​​เจพีมอร์แกน ฟันธง ดอลลาร์เสื่อมค่า-ความนิยมฮวบ แต่ยังไม่มีใครแทนที่ได้ 

​​เจพีมอร์แกน ฟันธง ดอลลาร์เสื่อมค่า-ความนิยมฮวบ แต่ยังไม่มีใครแทนที่ได้ 

รายงานของ “JPMorgans”  เผย ดอลลาร์เสื่อมค่า-ความนิยมลดลงจริง จนความน่าสนใจของ "ทองคำ" ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มีสกุลเงินทางเลือกใดมาแทนที่ดอลลาร์ได้

Key Points

  • เจพีมอร์แกน เผย ภาวะลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์ (De-dollarization) เกิดขึ้นแล้ว
  • ปัจจุบันสัดส่วนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสกุลเงินดอลลาร์อยู่ที่ 88% 
  • ธนาคารกลางหลายประเทศสะสมทองคำเพิ่มมากขึ้น
  • หยวนไม่ใช่สกุลเงินทางเลือกในการเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน ระบุในรายงานซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า แม้ว่าความเป็นไปได้ที่หลายประเทศจะหยุดใช้ สกุลเงินดอลลาร์ หรือยกเลิกการใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศจะแทบเป็นไปไม่ได้ ทว่าขณะนี้เริ่มมี “สัญญาณ” จากหลายประเทศที่เริ่มเพิ่มทางเลือกหรือหันไปใช้สกุลเงินอื่นเพื่อการทำธุรกรรมมากขึ้น

“เราเริ่มเห็นสัญญาณของการที่หลายประเทศเริ่มลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์ลง (De-dollarization) และแนวโน้มการลดการพึ่งพิงดังกล่าวก็มีท่าทีว่าจะคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรในอนาคตอันใกล้ดอลลาร์ยังอยู่ในสารบบการเงินโลกอยู่” นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน ระบุ

​​เจพีมอร์แกน ฟันธง ดอลลาร์เสื่อมค่า-ความนิยมฮวบ แต่ยังไม่มีใครแทนที่ได้ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันสกุลเงินดอลลาร์ยังรั้ง “อันดับ 1” ในกระแสธุรกรรมทางการเงินโลก และคิดเป็นสัดส่วนกว่า 88% ของปริมาณการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในขณะที่ส่วนแบ่งของการออกใบแจ้งหนี้การค้า (Trade Invoicing) คงที่อยู่ในระดับ 40-50% มาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว

อย่างไรก็ดี สัดส่วนของ ธุรกรรมในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์ ข้างต้น ขัดแย้งกับส่วนแบ่งการค้าโลกของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากตัวเลขในภาคการส่งออกย่อตัวลง 9% สู่ระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ส่วนแบ่งของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์ต่างก็ปรับลดลงเช่นกัน และมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมากขึ้น หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ชาติพันธมิตรตะวันตก ระงับเงินสำรองของรัสเซีย มูลค่า 3.3 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 10.9 ล้านล้านบาท) จากการรุกรานยูเครน ซึ่งท่าทีดังกล่าวกระตุ้นให้หลายประเทศเริ่มลดการพึ่งพาสกุลเงินของสหรัฐ​เพราะเกรงว่าอาจตกอยู่ในสภาวะคล้ายคลึงกันกับรัสเซีย

โดยนักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน ระบุเพิ่มเติมในรายงานว่า “ชัดเจนแล้วว่าเกิดการ De-dollarization ขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งสัดส่วนของสกุลเงินดอลลาร์ปรับตัวลงลดมากที่สุดเป็นประวัติการณ์จากส่วนแบ่งในการส่งออกที่ลดลง ขณะที่สัดส่วนดอลลาร์ในสินค้าโภคภัณฑ์กลับเพิ่มขึ้น”

​​เจพีมอร์แกน ฟันธง ดอลลาร์เสื่อมค่า-ความนิยมฮวบ แต่ยังไม่มีใครแทนที่ได้ 

ท่ามกลางสกุลเงินดอลลาร์ที่เริ่มเสื่อมค่าเมื่อเทียบกับทองคำ จากการที่ในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารกลาง หลายประเทศเริ่มสะสมสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างทอง ในปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งขณะนี้ ทองคำคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของสินทรัพย์ทั้งหมดส่วนดอลลาร์อยู่ที่ 44% 

ทั้งนี้ แม้ว่าเจพีมอร์แกนจะเห็นว่าสกุลเงินดอลลาร์เริ่มเสื่อมค่าและเสื่อมความนิยมลงทีละนิด ทว่าบรรดานักวิเคราะห์ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า “หยวน” จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ​ เพราะการทำธุรกิจผ่านสกุลเงินหยวนในเวทีโลกยังอยู่ในสัดส่วนที่เล็กน้อย โดยสัดส่วนการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินดอลลาร์ในแพลตฟอร์มโอนเงินระหว่างประเทศระดับโลกสวิฟต์อยู่ที่ 43% ขณะที่สกุลเงินหยวนมีสัดส่วนอยู่เพียง 2.3% 

ถึงอย่างนั้น บทวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน ระบุว่า เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลกลางปักกิ่งที่ต้องการพลักดันในหยวนมีบทบาทในเวทีการค้าโลก ผ่านการอ้างถึงความคืบหน้าของการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนและภาระหนี้สิน ทว่ายังมีข้อจำกัดจากนโยบายคุมเข้มทางการเงิน เช่นการไม่เปิด เสรีให้ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้า-ออกอย่างเสรี เป็นต้น 

สำหรับบทวิเคราะห์ของสถาบันทางการเงินอื่น หนึ่งในนั้นคือโกลด์แมน แซกส์ ต่ออนาคตของสกุลเงินดอลลาร์ ต่างเห็นในทำนองเดียวกันว่า

“แม้สกุลเงินดอลลาร์จะเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็ยังไม่มีสกุลเงินทางเลือกอื่นที่เข้ามาคุกคามหรือแทนที่สกุลเงินของสหรัฐอเมริกาได้

 อ้างอิง

1. Business insider