ลุ้นรัฐบาลใหม่ต่อ 'อีโคคาร์' 2 ปี หนุนค่ายรถเปลี่ยนผ่านสู่ EV

ลุ้นรัฐบาลใหม่ต่อ 'อีโคคาร์' 2 ปี หนุนค่ายรถเปลี่ยนผ่านสู่ EV

ภาครัฐต่ออายุมาตรการหนุนลงทุนอีโคคาร์ต่อไปอีก 2 ปี คงอัตราภาษีสรรพสามิต 14% ต่อไปถึงสิ้นปี 2568 หนุนผู้ผลิตรถช่วงเปลี่ยนผ่านเครื่องยนต์สันดาปเป็นไฮบริด หลังเจอปัญหาขาดแคลนชิปในช่วงโควิด เพื่อเตรียมเข้าสู่อุตสาหกรรม EV

รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ อีโคคาร์ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้มีนโยบายส่งเสริมเมื่อปี 2550 เพื่อให้เป็นโปรดักแชมป์เปียนตัวที่ 2 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อจากรถกระบะ โดยก่อนที่จะประกาศนโยบายนี้ออกมาได้มีแรงคัดค้านจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย แต่นโยบายนี้พิสูจน์แล้วว่าสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยได้

“นิสสัน มาร์ช” กลายเป็นรถยนต์อีโคคาร์คันแรกของไทย เปิดตัวครั้งแรกในปี 2553 รวมแล้วการส่งออกเสริมการลงทุนเฟส 1 มีผู้ผลิตรถอีโคคาร์ 5 ราย คือ นิสสัน ฮอนด้า ซูซูกิ มิตซูบิชิและโตโยต้า 

หลังจากนั้นได้มีการเปิดส่งเสริมการลงทุนเฟส 2 ในปี 2556 มีการปรับเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนจากขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท เป็น 6,500 ล้านบาท และคงกำลังการผลิตเหมือนเดิมที่ปีละ 100,000 คัน แต่ลดระยะเวลาผลิตให้ได้ภายใน 4 ปี จากเดิม 5 ปี

รวมทั้งลดภาษีสรรพสามิตจาก 17% เป็น 14% โดยมีผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 9 ราย คือ นิสสัน ฮอนด้า ซูซูกิ มิตซูบิชิ โตโยต้า ฟอร์ด มาสด้า เอ็มจีและโฟล์กสวาเกน โดยมีนิสสันเป็นผู้ผลิตรายแรกที่มีกำลังการผลิตถึงเป้าหมายปีละ 100,000 คัน

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ศึกษาแผนที่จะยกระดับการผลิตอีโคคาร์เพื่อไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยการที่จะปฏิวัติไปสู่รถยนต์ไฟฟ้านั้น จะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ไฮบริดจ์ปลักอิน ที่ใช้ได้ทั้งเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมไปสู่อีวี

ชงต่ออายุมาตรการอีโคคาร์อีก 2 ปี

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) พิจารณาเห็นชอบขยายเวลาสิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิต 14% ให้ผู้ผลิตอีโคคาร์ ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดมาตรการในเดือน ธ.ค.2566 ออกอายุไปอีก 2 ปี เป็นสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.2568 เพื่อให้ผู้ผลิตอีโคคาร์ได้มีระยะเวลาในการปรับตัวและพิจารณาปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 

สำหรับการกำหนดเงื่อนไขของการต่ออายุออกไปอีก 2 ปี ให้มีเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงอุตสาหกรรม และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ กรมสรรสามิต จะพิจารณาดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งจะต้องมีการเสนอ ครม.ชุดใหม่ก่อนที่มาตรการเดิมจะหมดอายุในสิ้นปีนี้

สำหรับเหตุผลสำคัญของข้อเสนอการต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนอีโคคาร์ครั้งนี้ เกิดจากในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนชิปในการผลิตรถยนต์

รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเจอปัญหนี้เช่นกัน และส่งผลให้การปรับตัวของผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 9 ราย เพื่อไปสู่การผลิตรถยนต์ไฮบริดจ์ปลักอินไม่เป็นไปตามแผน จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐต่ออายุมาตรการออกไปอีก 2 ปี

ส.อ.ท.หนุนต่อยอดอีโคคาร์ 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รถอีโคคาร์เป็นรถที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา เหมาะกับการใส่ชิ้นส่วนแบตเตอรี่ซึ่งมีน้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัม โดยในอดีตกระทรวงอุตสาหกรรมเคยเสนอนโยบายให้เปลี่ยนอีโคคาร์เป็นรถอีวีแต่ไม่เกิดการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ โครงการอีโคคาร์ประสบความสำเร็จในการทำให้มีรถยนต์นั่งมีราคาเอื้อมถึงได้สำหรับผู้บริโภคในประเทศ จึงส่งผลให้สัดส่วนยอดขายรถยนต์นั่งภายในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 42-45% รวมทั้งยอดส่งออกรถยนต์นั่งเติบโตอีกด้วย

สำหรับโครงการรถอีโคคาร์ได้กลายมาเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนคู่กับรถปิ๊กอัพ โดยกำหนดกรอบให้เป็นรถราคาประหยัดเริ่มต้นที่ราคา 3.5-4.0 แสนบาท และต่อมาได้เพิ่มข้อกำหนดเรื่องการประหยัดพลังงานให้มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันไม่ต่ำกว่า 20 กิโลเมตรต่อลิตร รวมทั้งใช้พลังงานทดแทนจากเอทานอลได้

นอกจากนี้ มิติตัวถังกำหนดความกว้างไม่เกิน 1.63 เมตร และยาวไม่เกิน 3.6 เมตร ประหนัดเชื้อเพลิงไม่ต่ำกว่า 5.6 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ 4 หรือ EURO 4

รวมทั้งผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ECE ของยุโรป รวมทั้งมีการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และให้สิทธิอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 14% ในขณะที่รถยนต์นั่งรุ่นอื่นต้องเสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 30%

ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการอีโคคาร์เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจยานยนต์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์นั่งของประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและฐานการผลิตเพื่อรองรับตลาดประเทศญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์

ห่วงยอดผลิตรถยนต์ปีนี้พลาดเป้า

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ประเมินว่าเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2566 น่ากังวล โดยที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายการผลิต 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1.05 ล้านคัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน

แต่คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้และมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มคงตัว

ในขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ล่าสุดในในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) มียอดผลิตรวม 625,423 คัน เพิ่มขึ้น 4.61% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากผู้ผลิตรถยนต์ทยอยได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์