ส.อ.ท.หวั่นนโยบายลักลั่น ส่งเสริม “อีวี-ไฮบริด-อีโคคาร์”

ส.อ.ท.หวั่นนโยบายลักลั่น ส่งเสริม “อีวี-ไฮบริด-อีโคคาร์”

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กำหนดให้ปี 2578 รถยนต์ที่ขายภายในประเทศต้องเป็นรถยนต์ที่ไร้ไอเสีย (ZEV) ทั้งหมด ส่วนรถยนต์เพื่อส่งออกยังคงผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันได้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนให้ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยปรับตัว

พะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวไม่กระทบการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์ใช้น้ำมัน เพราะยังผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันส่งออกได้ และอีก 15 ปีข้างหน้ามั่นใจว่าทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่จะใช้รถยนต์ EV เป็นส่วนมาก มีบางประเทศเป็นส่วนน้อยที่ยังใช้รถยนต์น้ำมัน ทำให้กำลังการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันยังคงสอดรับกับความต้องการของตลาดโลก ทำให้ไทยยังคงเป็นผู้นำการผลิตรถยนต์ ZEV และรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

“หากไทยไม่ประกาศเวลาที่ชัดเจนในการใช้รถ ZEV อาจทำให้บริษัทรถยนต์หันไปลงทุนผลิตรถ ZEV ประเทศอื่น เพราะตลาดภายในประเทศมีไม่มากพอที่จะเป็นฐานการผลิต แต่การประกาศออกให้ปี 2578 รถยนต์ทุกคันที่ขายในประเทศจะต้องเป็นรถ ZEV จะทำให้ตลาดภายในประเทศมีขนาดใหญ่กว่า 1 ล้านคันต่อปี เพียงพอต่อการดึงดูดการลงทุน ทำให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตรถยนต์ชั้นนำในอาเซียน และยังเป็นการลดปัญหามลพิษที่ต้นเหตุทำให้สภาพแวดล้อมของไทยดีขึ้นอีกมาก”

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การประกาศนโยบายรถ ZEV อาจเกิดความลักลั่นกับนโยบายเดิมที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด , ปลักอินไฮบริด รวมถึงรถยนต์อีโคคาร์ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ไทยสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติสับสนและขาดความเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนเร็วมาก

ทั้งนี้ ต้องลงรายละเอียดว่าโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถ EV มีความพร้อมหรือไม่ เพราะหากเร่งรัดเวลาตามขั้นบันไดอาจทำให้การนำเข้ารถยนต์ EV เพิ่มขึ้น หรือต้องนำเข้าชิ้นส่วนส่วนใหญ่มาประกอบภายในประเทศ โดยมองว่าการกำหนดเป้าหมายเป็นขั้นบันไดในปี 2565 ที่ต้องมียอดขายรถยนต์ในประเทศที่เป็นรถยนต์ EV 4% หรือ 30,000 คัน ถือว่าสูงมาก เพราะปี 2563 ไทยใช้รถ EV และปลั๊กอินไฮบริด 1,277 คัน ไม่รวมรถสาธารณะ รถบัส ซึ่งการเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายดังกล่าวสูงมากและอาจไม่ถึงเป้าหมาย

161741667594

ดังนั้นควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยหากรถยนต์ EV มีราคาลดลงจะทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อมากกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน ซึ่งค่ายรถต้องปรับตัวตามตลาดอยู่แล้ว แต่ยอดใช้รถยนต์ EV ทั่วโลกก็สูงขึ้นมาก โดยปี 2563 มียอดขาย EV และปลั๊กอินไฮบริด 3.24 ล้านคัน คิดเป็น 4% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด และเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 43% ส่วนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมี 79 ล้านคัน จากปี 2562 ที่มียอดขายกว่า 90 ล้านคัน สาเหตุหลักที่ทำให้ลดลงมาจากโควิด-19

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งผลักดันสถานีชาร์จไฟฟ้าให้เพียงพอทั่วประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการใช้ EV รวมทั้งวางแผนรับมือผลกระทบ เช่น การขาดรายได้จากการเก็บภาษีน้ำมัน ผลกระทบกับเกษตรกรมันสำปะหลัง อ้อยและปาล์ม ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของน้ำมันเอทานอลและไบโอดีเซล 

รวมถึงการลงทุนของโรงกลั่นน้ำมันในการผลิตน้ำมันยูโร 5 จะกระทบอย่างไร ผลกระทบต่อการเป็นฐานการผลิตรถปิ๊กอัพที่ส่งขายไปทั่วโลก เพราะปัจจุบันมีเพียงรถยนต์นั่งที่เป็นรถ EV ส่วนรถปิกอัพ EV คาดว่าจะเข้ามาอีก 2-3 ปีข้างหน้า และไม่มั่นใจว่าจะได้รับความนิยมเหมือนรถปิ๊กอัพที่ใช้น้ำมันหรือไม่

ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า แผน ZEV เป็นเรื่องดีมาก เพราะเป็นการประกาศให้ทั่วโลกเห็นว่าในอนาคตรถยนต์ในไทยทั้งหมด ซึ่งมียอดขายปีละ 1 ล้าน ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าคัน ถือเป็นตลาดใหญ่มากทำให้มีแรงดึงดูดการลงทุนสูง

ไทยได้เปรียบจำนวนการผลิตรถยนต์ที่แต่ละปีสูง 2 ล้านคัน เป็นการขายภายในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออก 1 ล้านคัน ขณะที่อินโดนีเซียผลิตเพียง 1 ล้านคัน และเวียดนามไม่กี่แสนคันยังห่างไทยอีกมาก และเมื่อรัฐบาลประกาศชัดเจนแบบนี้ยิ่งเพิ่มแรงดึงดูดการลงทุนในไทยขยายสายการผลิต หรือลงทุนใหม่เพราะเชี่ยวชาญการผลิตยานยนต์สูง

นอกจากนี้ ไทยได้เปรียบเหนือประเทศอื่นในการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและยานยนต์ใหญ่สุดในอาเซียน และมีรายได้เฉลี่ยประชากรสูงกว่าคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เพราะรถยนต์ไฟฟ้าช่วงแรกมีราคาสูง ดังนั้นหากตลาดมีกำลังซื้อสูงจะได้เปรียบ

ขณะที่แม้ประชากรอินโดนีเซียจะมี 200 ล้านคน และเวียดนาม 100 ล้านคน แต่คนชั้นกลางและรายได้เฉลี่ยประชากรต่ำกว่าไทย ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าน้อยกว่าไทย ซึ่งหาก 2 ประเทศ ประกาศเป้าหมายรถยนต์ไฟฟ้าชัดเจนเหมือนไทยจะยิ่งดี เพราะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเพียงสิงคโปร์ที่ประกาศใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ภายในปี 2583 แต่ไม่ใช่คู่แข่งผลิตรถยนต์กับไทย

“การประกาศครั้งนี้ส่งสัญญาณชัดเจนให้ค่ายรถต้องปรับไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยถือว่าเร็วอยู่ในกลุ่มผู้นำ เพราะญี่ปุ่นประกาศในปี 2578 อังกฤษประกาศปี 2573 ฝรั่งเศสช้ากว่าไทยประกาศใช้ในปี 2583 ส่วนของไทยปี 2578”

ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะปรับสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% เร็วกว่าปี 2578 เพราะกระแสโลกเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเร็วมาก คาดว่าปี 2573–2578 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้แพร่หลายและราคาจับต้องได้ รวมทั้งค่ายรถได้เร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ประกาศเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทำให้ต้องการเพิ่มมหาศาล

“มองว่าไทยมีเวลาปรับตัวอีกถึง 15 ปี เพียงพอต่อการปรับตัวผลิตชิ้นส่วนรองรับรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าน่าจะใช้เวลาปรับตัวเพียง 10 ปี ไม่มีบริษัทผลิตรถยนต์ไหนที่จะรอให้ถึงเส้นตายปี 2578 ทำให้มั่นใจว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะปรับตัวทัน”