การเมืองผลัดใบ แต่โอกาสลงทุนยังอยู่ที่ไทยและเวียดนาม

การเมืองผลัดใบ แต่โอกาสลงทุนยังอยู่ที่ไทยและเวียดนาม

เอกชนย้ำปี 2566 เป็นช่วงโอกาสทองการลงทุน ไทยเตรียมรับทุนย้ายฐานผลิตจากจีน ชี้สถานการณ์การเมืองไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน กนอ.เผยครึ่งแรกปีงบประมาณ 2566 ยอดขายนิคมฯ เพิ่มขึ้นสองเท่า เตรียมขยายนิคมฯ อีกกว่า 17 แห่ง

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมกาารบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 

ในช่วงเวลานี้ไทยและเวียดนามซึ่งเป็นสองประเทศหลักที่ดับบลิวเอชเอลงทุน กำลังเกิดการเปลี่ยแปลงทางการเมืองที่น่าสนใจ โดยที่เวียดนามกำลังมีการเปลี่ยนประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะชูนโยบายเด่นเรื่องการต้านคอร์รัปชัน ส่งผลให้เกิดเป็นช่วงเกียร์ว่างของหน่วยงานราชการ ส่วนที่ไทยเองกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองของทั้งสองประเทศไม่ได้กระทบต่อการลงทุนภาคนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากเทรนด์เคลื่อนย้ายฐานทุนออกจากจีนกำลังมุ่งหน้าสู่ภูมิภาคนี้ โดยเวียดนามยังคงมีจุดแข็งเรื่องค่าแรงราคาถูก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องจึงสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 

"โดยดับบลิวเอชเอตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามให้ได้กว่า 50,000 ไร่ และ ตั้งเป้าว่า 5 ปียอดขายนิคมในเวียดนามจะเท่ากับที่ไทย และธุรกิจของ WHA ในเวียดนามสร้างรายได้ให้กับ WHA ได้ 20% ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า"

ขณะที่เมื่อมองกลับมาที่ไทยว่าจะแข่งขันในการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้อย่างไร แน่นอนว่าไทยมีจุดแข็งเรื่องการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องเร่งผลักดันและพัฒนาเพื่อให้ไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค ได้แก่

1.ยกระดับการเป็นพื้นที่ยุทธศาตร์เชื่อมโยงแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) อ่าวและไทยอันดามัน จากเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีและระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ รวมทั้งผลักดันให้เกิดการผลิตไทยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน 

2.การพัฒนาทักษะแรงงาน สนับสนุนแรงงานสูงอายุและคนรุ่นใหม่ เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษและจีน รวมทั้งความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยี

3.การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ เตรียมพร้อมการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

4.การเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้า เข้าร่วมข้อตกลง CPTPP และเดินหน้า FTA ยุโรป  

“การเกิดสงครามการค้า โควิด-19 และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานทุนจากจีนและชาติอื่นๆ ซึ่งจะอยู่ไปอีก 10-20 ปี ไม่เหมือนตลาดทุนที่มีความผันผวน ซึ่งไทยจะดึงการลงทุนให้เข้ามาได้ ทั้งกนอ. บีโอไอและอีอีซี รวมทั้งรัฐบาลใหม่จะต้องร่วมมือกับเอกชน”

โดยกลุ่มนักลงทุนหลักในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอคืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และจะมีเข้ามาอีกหลายแบรนด์ซึ่งจะประกาศต่อไป ส่วนนิคมฯ ในเวียดนามจะเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน 

นางสาวจรีพร ย้ำว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสทองของการลงทุนย้ายฐาน น้ำขึ้นให้รีบตักอย่าให้อุปสรรคหรือข้อกฎหมาย อาทิ เรื่องผังเมือง มาเป็นข้อจำกัดให้ไทยไปต่อไม่ได้

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนระยะยาว เห็นได้จากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ไทยเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีเสถียรภาพและมีความแข็งแกร่ง เดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านของการเมืองในประเทศขณะนี้ได้กำหนดการในแต่ละช่วงเวลาแต่ละขั้นตอนชัดเจนแล้ว

“ขณะนี้ยอดขาย/เช่านิคมฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 3,458 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเทียบกับปี 2565 ที่ทั้งปีมียอดเช่า/ขายรวม 2,016 ไร่ โดย กนอ.ยังอยู่ระหว่างพิจารณาอนุญาตโครงการลงทุนในนิคมต่างๆ อีก 17 นิคม ทำให้มั่นใจว่าแนวโน้มการลงทุนครึ่งหลังของปีนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอีวี อุปกรณ์ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์”