งดพอเพียงพร้อมเพิ่มความเสี่ยงด้วยประชานิยม | ไสว บุญมา

งดพอเพียงพร้อมเพิ่มความเสี่ยงด้วยประชานิยม | ไสว บุญมา

ท่ามกลางความแตกต่างอย่างแจ้งชัดเป็นที่ประจักษณ์ของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ความเหมือนถูกกลบไปจนไม่มีใครอ้างถึง สองความเหมือนต่อไปนี้มีพิษสงยิ่งนัก

ความเหมือนแรกได้แก่ไม่มีใครให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ในนโยบายหลักของพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ที่นำโดยผู้มีบทบาทสำคัญในการสั่งให้ทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่มีแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงปรากฏ ทั้งที่ยุทธศาสตร์อ้างว่าแนวคิดนั้นเป็นฐานของการพัฒนาประเทศ  

    อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ไม่เป็นที่แปลกใจ ทั้งนี้เพราะแม้ยุทธศาสตร์จะอ้างว่าใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน แต่เนื้อหามิได้บ่งว่าจะนำมาใช้อย่างไร จึงสรุปอย่างมั่นใจได้ว่า ผู้ร่างยุทธศาสตร์นำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาโหนเท่านั้น

ทั้งนี้เพราะพวกเขาคงไม่เข้าใจในสาระ ทำให้ขาดศรัทธาในแนวคิด ซ้ำร้ายยังหลงผิดว่าแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก คือทางเลือกอันเหมาะสมสำหรับสังคมมนุษย์

แนวคิดเศรษฐกิจกระหลักไม่เหมาะสมกับสังคมมนุษย์อย่างไร?

    คำตอบพื้นฐานคือ มันวางอยู่บนฐานของการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค หรือการใช้ทรัพยากรโลกเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด  โลกมีทรัพยากรจำกัด  การใช้ที่เพิ่มขึ้นไปแบบไม่มีที่สิ้นสุดนำไปสู่การแย่งชิงซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งที่บางครั้งรุนแรงถึงขั้นทำสงครามกัน  

สงครามในยูเครนในปัจจุบันและสงครามกลางเมืองในซูดานมีฐานอยู่ที่การแย่งชิงทรัพยากรทั้งสิ้น  ยูเครนมีที่ดินและน้ำอันอุดมพร้อมกับภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการผลิตอาหารจำนวนมาก  นอกจากนั้น ยังมีทรัพยากรอื่นอีกมากเช่นเดียวกับซูดานอีกด้วย

    การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเหตุปัจจัยที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน  ภาวะนี้เป็นที่มาของลมพายุที่ร้ายแรงขึ้นและเกิดบ่อยขึ้นพร้อมกับการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล  นอกจากนั้น มันยังทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งซึ่งร้ายแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย  ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตมนุษย์อย่างทั่วถึง

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างไร?

    คำตอบพื้นฐานคือ มันวางอยู่บนฐานของการบริโภค หรือการใช้ทรัพยากรเพื่อความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเท่านั้น ต่างกับการใช้เพื่อสนองตัณหาของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก  

สำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ใจในเนื้อหาสาระแต่สนใจในแนวคิดนี้ มีหนังสือฟรีที่ฟังได้จาก YouTube และดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ มูลนิธินักอ่านบ้านนา  ชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ”

    ความเหมือนที่ 2 ได้แก่ ทุกพรรคเสนอใช้มาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายเพิ่มขึ้น  รัฐบาลไทยเริ่มใช้นโยบายประชานิยมเมื่อปี 2544  ดังที่ทำนายไว้ในหนังสือเรื่อง “ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ” (ฟังได้จาก YouTube และดาวน์โหลดได้ฟรีจากที่เดียวกัน)

ชาวไทยได้เสพติดนโยบายในแนวนี้เช่นเดียวกับชาวอาร์เจนตินา หลังรัฐบาลของพวกเขาเริ่มใช้ในปี 2459 ส่งผลให้รัฐบาลต่อ ๆ มาต้องใช้จนทำให้อาร์เจนตินาล้มละลายครั้งแรกเมื่อปี 2499  

    หลังจากนั้น อาร์เจนตินาก็พัฒนาเศรษฐกิจตามแนวตลาดเสรีและการเมืองตามแนวประชาธิปไตยแบบล้มลุกคลุกคลานมาตลอด  ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลเผด็จการอันเกิดจากการยึดอำนาจของทหารหลายครั้งยังเข่นฆ่าประชาชนที่ต่อต้านไปนับหมื่นคนอีกด้วย    

    เมื่อชาวไทยเสพติดของแจกจากรัฐบาลเช่นเดียวกับชาวอาร์เจนตินาแล้ว จึงน่าถามว่าเมืองไทยจะล้มละลายและต่อไปจะพัฒนาแบบล้มลุกคลุกคลานแบบอาร์เจนตินาหรือไม่?  หากมองจากกรณีของละตินอเมริกาเช่นอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา เมืองไทยคงหนีไม่พ้นภาวะเลวร้ายในแนวนั้น  

    อย่างไรก็ดี ไทยยังพอมีทางออกอยู่บ้าง ทั้งนี้เพราะเมื่อเทียบกับ 2 ประเทศดังกล่าว ไทยเพิ่งเริ่มใช้ประชานิยมแบบเลวร้าย จึงยังไม่มีหนี้สินต่างประเทศแบบท่วมท้นและยังมีทุนสำรองก้อนใหญ่อยู่ในมือ  ถ้ามาตรการประชานิยมดำเนินต่อไป แต่ไม่ถึงขั้นทำให้ต้องก่อหนี้แบบล้นพ้นและผลาญทุนสำรองของชาติจนหมด ภาวะล้มละลายซ้ำซากคงไม่เกิดขึ้น  

    อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจะดำเนินไปได้ช้ามาก เนื่องจากมาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายจะแย่งใช้งบประมาณจนไม่เหลือไว้สำหรับใช้เพื่อการลงทุนในสิ่งสำคัญ ๆ รวมทั้งด้านการศึกษาและด้านการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน  

ไทยอาจเอาชนะข้อจำกัดนี้ด้วยวิธีให้สัมปทานระยะยาวจำพวก 99 ปีแก่ชาวต่างประเทศ แต่ทางออกนี้มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียเอกราช.