'ไทย - UAE' เจรจา CEPA รอบเเรก เล็งปิดดีลภายใน 6 เดือน

'ไทย - UAE' เจรจา CEPA รอบเเรก เล็งปิดดีลภายใน 6 เดือน

'ไทย - UAE' ประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) รอบแรก เดินหน้ายกร่างข้อบทความตกลงฯ ตั้งเป้าสรุปผลภายใน 6 เดือน ด้านไทย เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรอบ 2 เดือน ก.ค.นี้ คาด CEPA ช่วยเพิ่ม GDP ดันส่งออกของไทย ขยายตัวมากขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการค้าต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมศุลกากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้าร่วม การประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รอบแรก ระหว่างวันที่ 16 – 18 พ.ค ที่ผ่านมา ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

การประชุมครั้งนี้ คณะทำงาน 9 คณะของทั้งสองฝ่ายได้เริ่มหารือยกร่างข้อบทความตกลง CEPA ซึ่งประกอบด้วยประเด็นสำคัญ อาทิ การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า การค้าบริการและการค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) โดยตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CEPA รอบที่ 2 ในเดือนก.ค.นี้ที่ กรุงเทพฯ

\'ไทย - UAE\' เจรจา CEPA รอบเเรก เล็งปิดดีลภายใน 6 เดือน

"จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า การจัดทำ CEPA ระหว่างไทย – UAE จะส่งผลให้ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นถึง 318 – 357 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10,867 – 12,201 ล้านบาท และการส่งออกของไทยในภาพรวมจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 190 – 243 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,494 – 8,305 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการจัดทำ CEPA ระหว่างกัน โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกได้มากขึ้น อาทิ สินค้าอาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วน" นางอรมน กล่าว

 

ทั้งนี้ UAE เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง ในปี 2565 การค้าระหว่างไทย – UAE มีมูลค่า 20,824.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 73.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป UAE มูลค่า 3,420 ล้านดอลลาร์และไทยนำเข้าจาก UAE มูลค่า 17,400 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเครื่องเพชรพลอย

 สำหรับในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค. – มี.ค. 2566) การค้าระหว่างไทย – UAE มีมูลค่า 4,690 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป UAE มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจาก UAE มูลค่า 3,840 ล้านดอลลาร์