พาณิชย์ เดินหน้าทำเอฟทีเอใหม่สร้างโอกาสทางการค้า

พาณิชย์ เดินหน้าทำเอฟทีเอใหม่สร้างโอกาสทางการค้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าทำเอฟทีเอ เปิดประตูการค้าตลาดใหม่ หลายกรอบเจรจาใกล้ปิดดีล พร้อมเล็งเปิดเอฟทีเอ กลุ่ม MERCOSUR หวังเปิดตลาดภูมิภาคแอฟริกาใต้ตอนล่าง

ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ถือเป็นเครื่องมือในการสร้างแต้มต่อทางการค้า เพื่อจะลดอุปสรรคทางการค้า เปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน รวมทั้งมาตรการทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี นอกจากนี้เอฟทีเอยังเป็นเครื่องมือทางการค้าสำคัญที่ประเทศต่างๆ สามารถใช้เพื่อขยายโอกาสในการค้า สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้าน ปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ 14 ฉบับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เอฟทีเอเป็นฉบับล่าสุดของไทย 

 นอกจากเอฟทีเอที่ทำกับ 18 ประเทศแล้ว ไทยกำลังเดินหน้าทำเอฟทีเอใหม่กับ 4 ประเทศ     โดย "นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า  ขณะนี้ไทยกำลังเดินหน้าเร่งเจรจาเอฟทีเอทั้งที่ทำใหม่และที่ยังค้างอยู่ ประกอบ  1.เอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หรือ การเจรจาจัดทำ CEPA โดยจะมีการนัดประชุมครั้งที่ 1  ระหว่างวันที่ 16 – 18 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน 2.เอฟทีไทยกับสหภาพยุโรปหรืออียู โดยจะมีการประชุมรอบแรกในเดือน ก.ย. 2566 คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี จบได้ในปี 2568  

พาณิชย์ เดินหน้าทำเอฟทีเอใหม่สร้างโอกาสทางการค้า

3.เอฟทีเอไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือ “EFTA” ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์)  ซึ่งได้เริ่มเจรจาไปแล้วเมื่อเดือนมิ.ย. 65  และได้ตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้อย่างเร็วภายใน 2 ปีหรือในปี 2567  

 4.เอฟทีเอไทย -ศรีลังกา  ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีการเจรจาไปแล้ว 4 รอบ  และได้นัดเจรจารอบที่ 5 ในเดือน มิ.ย. นี้ ตั้งเป้าสรุปผลต้นปี 67 และ 5.เอฟทีเออาเซียน - แคนาดา โดยเริ่มเจรจารอบแรกเมื่อปี 2565  ล่าสุดเจรจารอบ 3 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้เตรียมจัดประชุมอีก 2 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลเจรจา ปี 2567 ส่วนเอฟทีเอ ไทย-ตุรกี การประชุมที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องแต่ขณะนี้มีการเลือกตั้งใหม่ คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่เอฟทีเอไทย-ปากีสถาน ที่หยุดชะงักไปเพราะปัญหาภายในประเทศ คาดว่าในเร็วๆนี้จะเปิดเจรจาอีกครั้ง 

 ทั้งนี้เมื่อสรุปผลเจรจาแล้ว ต้องนำเอฟทีเอดังกล่าวไปรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร เมื่อขอความเห็นชอบต่อไป ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ก็น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน 

 นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเปิดเจรจากับประเทศคู่ค้าใหม่ เพื่อเพิ่มตลาดการค้าไทยให้มากขึ้น ที่วางไว้คือ ประเทศ อิสราเอล ภูฏาน   เกาหลีใต้  กลุ่มคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance  ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศ เพื่อหาตลาดใหม่ที่จะช่วยขยายโอกาสการค้าไทย

พาณิชย์ เดินหน้าทำเอฟทีเอใหม่สร้างโอกาสทางการค้า

โดยกลุ่ม GCC มีมูลค่าการค้ากับไทย 39,618.52 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 6.71% ของการค้าไทยกับโลก ส่วนกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกอยู่ที่ 6,239.99 ล้านดอลลาร์ และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศอยู่ที่ 2,831.50 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเพิ่มได้ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการค้าของไทยกับคู่เอฟทีเอ ได้เพิ่มขึ้น 

ล่าสุดภาคเอกชนเสนอให้เปิดเอฟทีเอกับ ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Southern Common Market) หรือ MERCOSUR (เมร์โกซูร์) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย โดยมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 12 ล้านตารางกิโลเมตรและมีประชากรรวมกันกว่าครึ่งของภูมิภาคลาตินอเมริกา คือประมาณ 263 ล้านคน GDP รวมกันประมาณ 2.78 ล้านล้านดอลลาร์ปริมาณการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิก MERCOSUR มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาทั้งหมด และเป็นเศรษฐกิจอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าสนใจที่ไทยจะสามารถเปิดตลาดการค้าใหม่ในกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ตอนล่างได้

รวมทั้งจะเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในรูปแบบอื่น เช่น ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ  การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าหรือJTC เพื่อเปิดตลาดการค้า และขจัดอุปสรรคทางการค้า 

ทั้งนี้ผลจากการมีเอฟทีเอ 14 ฉบับ ทำให้การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ  ในปี 2565 มีมูลค่า 359,542.4 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 5.1% โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ เอฟทีเอ มูลค่า 171,789 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 187,753.3 ล้านดอลลาร์ โดยมีสัดส่วนการค้ารวมประมาณ 60.9 % และตั้งเป้าในปี 2570 จะมีสัดส่วนการค้าเพิ่มเป็น 80 %