‘นักวิชาการ’แนะ 5 ข้อดูแลเศรษฐกิจ รัฐบาลใหม่แก้ปากท้อง-เพิ่มรายได้ประชาชน

‘นักวิชาการ’แนะ 5 ข้อดูแลเศรษฐกิจ รัฐบาลใหม่แก้ปากท้อง-เพิ่มรายได้ประชาชน

“นักวิชาการนิด้า” ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาด หลังภาคการส่งออกจ่อติดลบ2% เศรษฐกิจโลกผันผวน แนะรัฐบาลใหม่ เดินหน้า 5 ข้อสร้างความเชื่อมั่น - สร้างรายได้ประชาชน เปิดเวทีการค้า เร่งทำ FTA ดูแลเสถียรภาพการเงิน – อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่เหมาะสม

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์  ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงนโยบายสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ผ่านไปพรรคการเมืองต่างๆ อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้แม้จะมีประเด็นทางการเมืองและกฎหมายหลายฉบับที่พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมเสนอให้มีการแก้ไข แต่ตนมองว่าเรื่องจำเป็นในการเดินหน้าของรัฐบาลชุดใหม่คือเรื่องของเศรษฐกิจ และเรื่องปากท้องของประชาชนที่ถือเป็นความเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีชุดนโยบายออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

โดยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ขยายตัวได้ 2.7% แต่ยังถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน ขณะที่การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.2% อาจจะขยายตัวได้ไม่ถึงโดยอาจจะขยายตัวได้แค่ 2-5 – 3% เท่านั้น

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีความไม่แน่นอนสูงอาจจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทยให้หดตัวได้ประมาณ 2% ซึ่งภาคการส่งออกจะไม่ใช่ภาคที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มากนักในทางตรงกันข้ามจะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมาย

นอกจากนี้สถานการณ์ดอกเบี้ยหลายประเทศนำโดยสหรัฐฯยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากยังไม่สามารถที่จะกดให้เงินเฟ้อลดลงได้ ล่าสุดธนาคารกลางของญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงยังถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ในส่วนของเศรษฐกิจภายในประเทศของไทยยังขาดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอีกหลายส่วน แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 25 – 26 ล้านคน แต่ในส่วนที่จะชะลอตัวลงก็คือในส่วนของการใช้จ่ายของประชาชนเนื่องจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังสูงในระดับ 87% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)  ส่วนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะมีอุปสรรคจากการจัดทำพ.ร.บ.รายจ่ายที่ล่าช้า ส่วนภาคเอกชนที่กำลังตัดสินใจจะลงทุนก็จะชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนจากนโยบายของรัฐบาลใหม่

‘นักวิชาการ’แนะ 5 ข้อดูแลเศรษฐกิจ รัฐบาลใหม่แก้ปากท้อง-เพิ่มรายได้ประชาชน

“ช่วงเวลาตั้งแต่ยุบสภาฯมาจนถึงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ถือว่า เป็นช่วงสุญญากาศทางการเมืองซึ่งมีระยะเวลาประมาณ  5 เดือน ซึ่งในช่วงนี้การขับเคลื่นเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่เข้ามาต้องรีบเข้ามาออกนโนบายทางด้านเศรษฐกิจเพื่อดูแลปากท้องของประชาชน และหากทางผลักดันการลงทุนที่ชะลอลงไปในช่วงที่ผ่านมาให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด”นายมนตรี กล่าว

สำหรับหน้าที่หลักของรัฐบาลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีอยู่ 5 เรื่องสำคัญ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่

1.ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว (Growth) ในอัตราที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ทั้งนี้การขับเคลื่อนให้ภาคเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเติบโตได้มากขึ้นภาครัฐต้องส่งเสริมการส่งออก โดยขยายตลาดการส่งออกให้มากขึ้น มุ่งเน้นการเจรจาการค้าในกรอบความร่วมมือที่ยังค้างอยู่ เช่น เขตการค้าเสรี (FTA) ไทย – EU การเจรจา FTA กับสหราชอาณาจักร รวมทั้งการขยายตลาดและเปิดตลาดส่งออกของไทยในภูมิภาคอื่นๆ  

2.การกระจายรายได้ให้เท่าเทียม แก้การเติบโตแบบกระจุกตัวทั้งในแง่ของพื้นที่ และธุรกิจ กลุ่มทุนที่ผูกขาด ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไขในส่วนนี้เพื่อกระจายทรัพยากรและสร้าการแข่งขันที่เป็นธรรม

3.การสนับสนุนให้มีการเติบโตอย่างเท่าเทียม สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการศึกษา และสาธารณสุขที่ดี อำนวยความสะดวกให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ได้

เมื่อธุรกิจและคนในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลดีต่อการขยายฐานภาษีของประเทศ ทำให้ผู้เสียภาษีมีมากขึ้นทั้งประชาชน และธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นการขยายฐานภาษีให้กว้าง ซึ่งดีกว่าการรีดภาษีจากคนที่มีรายได้สูงซึ่งมีจำนวนไม่มากนักในประเทศไทย

4.ดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ โดยปัจจุบันมีกรอบเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1 – 3% ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงจากแนวโน้มราคาพลังงานที่ลดลง ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขายตัวได้ดี

และ 5.ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่ผันผวนจนเกินไป โดยในส่วนนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของ ธปท.โดยรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ แต่ฝ่ายนโยบายและ ธปท.สามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในอัตราที่เหมาะสมและแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค