วิกฤติ “แรงงานท่องเที่ยว” หลังโควิด ตลาดไม่ฟื้น “ชะลอจ้าง-นำเข้าต่างชาติ”
แม้ว่า “ภาคท่องเที่ยว” ของประเทศไทยเริ่มกลับมาสดใสระดับหนึ่ง หลังได้รับแรงส่งจากการปลดล็อกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างมองว่าการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย
แต่สิ่งน่ากังวลใจในตอนนี้คือปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม
พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ และศาสตราจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ระบุถึง “ผลการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดแรงงานภาคการท่องเที่ยวไทยหลังยุคโควิด-19” ว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยว 23.2% “เต็มใจ” ที่จะเพิ่มแรงงาน ต้องการจ้างพนักงานเพิ่ม 9.3% ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่บางส่วนยังคง “ลังเล” เพราะดีมานด์นักท่องเที่ยวในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ผู้ประกอบการ 6.8% กำลังวางแผนลดจำนวนพนักงานลง 1.9% ส่วนใหญ่เป็นเพราะผลประกอบการไม่ดี (65%) ต้นทุนค่าจ้างพนักงานสูงเกินไป (41%) รองลงมาคือปรับโครงสร้างองค์กร (24%) ใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานระดับบริหาร (24%) และใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานทักษะ (6%)
“ผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ยังระบุถึงประเด็นการนำแรงงานกลับเข้ามาทำงานด้วย พบว่ากว่า 64% ของผู้ประกอบการทั้งหมด ‘ไม่ต้องการ’ นำแรงงานกลับเข้ามาทำงาน กรณีที่มีแรงงานถูกเลิกจ้างหรือลาออกในช่วงโควิด-19 ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการนำแรงงานกลับเข้ามาทำงานมี 21% และที่เหลือ 15% ไม่มีแรงงานถูกไล่ออกหรือลาออก”
ด้านแผนการจ้างงานของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในอนาคต พบว่ามากกว่าครึ่งหรือ 54% “ไม่มีแผนปรับการจ้างงาน” ส่วน 35% มีแผนจ้างแรงงานที่มีทักษะหลากหลาย สามารถทำได้หลายงาน (Multi-skill) มากขึ้น และ 10% มีแผนจ้างแรงงานพาร์ตไทม์ (Part Time) มากขึ้น หรือจ้างงานแบบเต็มเวลา (Full Time) ลดลง
พิริยะ กล่าวถึงมุมซัพพลายแรงงานภาคท่องเที่ยวด้วยว่า พนักงานส่วนใหญ่ 65% ต้องการ “ความมั่นคง” ในหน้าที่การงาน และได้ค่าจ้างในระดับที่พอรับได้ ตรงกันข้ามกับแนวทางการบริหารกำลังคนในปัจจุบันที่นายจ้างมักเลือกใช้การว่าจ้างจากภายนอก (Outsource)
ขณะที่การวางแผน “ลาออก” ในอนาคต พบว่ามีแรงงานท่องเที่ยวประมาณ 22% วางแผนจะลาออกจากงานภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่ 45% ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะรายได้น้อยเกินไป ด้าน 31% ระบุว่าเงินเดือน สวัสดิการ การทำงาน เปลี่ยนแปลงไม่เหมาะสมกับตัวแรงงาน, 27% อาชีพที่ทำอยู่ไม่มีความมั่นคง และ 23% ต้องการไปพัฒนาหรือเพิ่มพูนทักษะ โดยอาชีพที่จะทำหลังลาออก กว่า 42% จะประกอบธุรกิจของตัวเอง รองลงมาคือ 23% ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่มั่นคง และ 9% อาชีพใหม่ในภาคท่องเที่ยว
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน ต.ค. 2565 ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 101 แห่ง สำรวจระหว่างวันที่ 10-21 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า เดือน ต.ค. โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยใกล้เคียงเดือนก่อนอยู่ที่ 72.3% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนหนึ่งจากปัญหาขาดแคลนแรงงานยังคงกดดันการจ้างงานในธุรกิจโรงแรม
“โรงแรม 51% มองว่าข้อจำกัดสำคัญที่อาจทำให้โรงแรมไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ในไตรมาส 4 นี้ คือปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งในแง่จำนวนและคุณภาพ”
รองลงมาคือ มองว่าปัญหาขาดแคลนเงินทุนสำหรับปรับปรุงห้องพักหรือขยายธุรกิจ 26% และแหล่งท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเปิดอย่างเต็มที่ 26% นอกจากนี้บางส่วนเห็นว่าต้นทุนการบริการที่สูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาห้องพักได้เป็นหนึ่งในข้อจำกัดเช่นกัน อย่างไรก็ดี มีโรงแรม 23% ที่สามารถบริหารจัดการปัญหาได้และไม่มีข้อจำกัดในการรองรับลูกค้า
ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป บริษัทในเครืออิตัลไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจโรงแรมที่พักกำลังเจอปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เพราะสร้างคนไม่ทัน หลังแรงงานออกจากระบบเพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 หลายคนได้อาชีพใหม่ ไม่กลับมาทำงานวงการโรงแรมอีก
โรงแรมในเครือออนิกซ์ต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยการ “นำเข้าแรงงาน” จากต่างประเทศ เช่น ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงอินเดีย จากเคยมีพนักงานในระบบประมาณ 4,000 คนในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ปัจจุบันมีจำนวน 3,000 คน ขาดแคลนประมาณ 1,000 คนทั้งพนักงานระดับ High Skill และ Low Skill
อย่างเช่น โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ ปัจจุบันรับพนักงานชาวอินเดียมากขึ้น ส่วนโรงแรม แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ต้องจ้างพนักงานใหม่เพิ่ม ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 40% ของพนักงานโรงแรมฯทั้งหมด ด้วยค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้จึงเห็นภาพของธุรกิจโรงแรม “ซื้อตัว” พนักงานกันมาก!
“ตอนนี้งานล้นมือพนักงานอย่างมาก ต้องกลับไปอยู่ในจุดที่เราเคยทำ เครือออนิกซ์จึงพยายามดิ้นรนหาพนักงานมารองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก หลังเครือออนิกซ์จำเป็นต้องปรับครั้งใหญ่เมื่อครั้งเจอวิกฤติโควิด-19 พนักงานต้องสามารถทำงานหลายอย่างได้พร้อมกันในตอนนั้น”