เอกชนห่วงโหวตนายกฯล่าช้ากระทบเบิกจ่ายงบ

ภาคเอกชนห่วงโหวตเลือกนายกล่าช้ากระทบหารเบิกจ่ายงบประมาณที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า ขณะที่ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนเมษายนปรับตัวลดลงจากความกังวลค่าไฟ-ราคาน้ำมันแพง วอนภาครัฐออกมาตรการบรรเทาผลกระทบ

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ระบุ การจัดตั้งรัฐบาลเชื่อว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. นี้ ตามไทม์ไลน์ แต่การโหวตนายกรัฐมนตรียังเป็นที่น่ากังวล จากเสียงของ สว. 250 เสียง และหากล่าช้าไปจนถึงเดือน ก.ย. จะส่งผลให้เบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. พร้อมสนับสนุนทุกพรรค เนื่องจากไม่มีนโยบายที่ขัดแย้งกับพรรคใด และการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่พรรคก้าวไกล รวมถึงการรวมเสียงกับพรรคเพื่อไทยและพรรคเล็ก รวม 310 เสียง ณ ปัจจุบัน เชื่อว่าเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลได้

ส่วนเรื่องนโยบายการขึ้นค่าแรงมองว่าควรให้ตามทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งตามความเป็นจริงแรงงานที่ได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงจะเป็นแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทย ดังนั้น หากมองในมุมเศรษฐกิจรายได้ของแรงงานที่เพิ่มขึ้นจะไม่กลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะแรงงานต่างด้าวจะส่งเงินกลับประเทศตนเอง

ภาครัฐต้องเข้าใจกลไกเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ต้องใช้ไตรภาคีในการพิจารณา ที่ผ่านมาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่ละครั้งทำให้ความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง การลงทุนจากต่างประเทศลดลง เอกชนอยากให้ภาครัฐมองไปที่การทำให้ค่าครองชีพไม่ขึ้นมากกว่าการขึ้นค่าแรง ที่สุดท้ายแล้วจะเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ เพราะเมื่อประกาศขึ้นค่าแรง ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็ขึ้นราคาตามทันที เพราะฉะนั้นเรื่องค่าแรงและค่าครองชีพต้องไปพร้อมๆ กันว่าจะทำอย่างไรให้มีช่องว่างระหว่างกัน ให้ประชาชนมีเงินพอใช้

ค่าไฟ-น้ำมันแพง ทุบดัชนีอุตฯ ร่วงรอบ 4 เดือน

สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน ปรับตัวลดลงครั้งแรกใน 4 เดือน ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงโดยมีปัจจัยลบจากการชะลอตัวของภาคการผลิต เนื่องจากวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น 

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐขอให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า จัดสรรงบประมาณเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบและลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม