สศช.แนะรัฐบาลใหม่คำนึงวินัยการคลัง!

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แนะถึงการทำนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาว่า ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจจากผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แนะถึงการทำนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาว่า ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจจากผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้มีการใช้มาตรการทั้งด้านการเงินและมาตรการด้านการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าว และพยุงเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้

   ดังนั้น การใช้งบประมาณในการทำนโยบายต่างๆ ระยะต่อไปของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามานี้ ควรต้องคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด เพราะจะมีผลต่อการที่ต่างประเทศจะประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
          สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง ที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงนั้น นายดนุชา กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำนโยบายในส่วนนี้ ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะหากเป็นการไปเพิ่มภาระต้นทุนให้กับภาคธุรกิจแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นที่ภาคธุรกิจจะต้องส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นดังกล่าวมายังผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของประเทศ นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติด้วย

    "ดังนั้นการทำนโยบายใดๆ ที่จะไปเพิ่มต้นทุนของภาคธุรกิจ รัฐบาลจะต้องพิจารณาผลดี และผลเสียว่าเป็นอย่างไร เพราะอาจทำให้ FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) กลับทิศได้ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ การที่ต้นทุนเพิ่ม ก็จะส่งผ่านไปถึงผู้บริโภค และไปถึงเงินเฟ้อในที่สุด เพราะฉะนั้น การทำนโยบายจะต้องรอบคอบและคิดให้รอบด้าน เพราะมันไม่ใช่กระทบแค่ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจด้วย" เลขาธิการ สภาพัฒน์  ระบุ
          นายดนุชา ยังกล่าวถึงเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรต้องดำเนินการก่อนเป็นลำดับแรกๆ เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ คือ อันดับแรก จะต้องเร่งผลักดันด้านการส่งออกของไทยไปยังตลาดโลก ทั้งในส่วนของสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม รองลงมา คือ การดูแลปากท้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาราคาพลังงานสูงทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะมีมาตรการดูแลราคาพลังงานได้ตามที่ประกาศไว้เป็นโยบายในช่วงหาเสียงหรือไม่
          เลขาธิการ สภาพัฒน์  คาดว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในกรณี worst case จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2567 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งหางบประมาณมาอัดฉีด โดยเฉพาะการลงทุน เช่น งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณ จะต้องมีการเร่งในช่วงเดือน ก.ย.66 นี้ ให้สามารถใช้ได้ในช่วงปลายปี ประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีปฏิทิน ก็คาดว่าจะมีงบลงทุนอีก 2 แสนล้านบาท ที่จะใช้ได้ในช่วงไตรมาส 1/2567
          ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มีการจัดทำไว้หมดแล้ว ถ้ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการ ก็ทำได้ 2 แนวทาง คือ 1. การปรับเล็ก คือ ปรับรายละเอียดไส้ในของงบประมาณ และ 2.ทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องมาดูประมาณการรายได้ การขยายตัวเศรษฐกิจ ประมาณการรายจ่าย แต่ก็คาดว่าจะไม่แตกต่างจากที่เคยทำไว้เดิม
          "การทำงบประมาณ มีข้อจำกัดหลายเรื่อง แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ว่าจะเลือกทางไหน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับนโยบายที่ได้ประกาศไว้ อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาวินัยการเงินการคลังของประเทศควบคู่ไปด้วย" นายดนุชา ระบุ 

          สภาพัฒน์ คงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวในช่วง 2.7 - 3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุน โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.7% การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.9% และ 2.7% ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 - 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP
           สภาพัฒน์ มองว่าปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ประกอบด้วย 1. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภายในประเทศ 3.การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 
          ขณะที่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก 2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย 3.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร 4.เงื่อนไขและบรรยากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 

          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์  กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้
          1. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยเร่งรัดการส่งออกไปยังตลาดที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวดี และการสร้างตลาดใหม่ รวมทั้งประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
          2. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 63-65 ให้เกิดการลงทุนจริง แก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
          3. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องโดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา และสร้างความพร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง และส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น
          4. การดูแลผลผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูการเพาะปลูก 2566/2567 ควบคู่ไปกับการการเตรียมพร้อมรองรับและแก้ไขปัญหาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
          5. การรักษาบรรยาการทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567