เอกชนเรียกร้องตั้งรัฐบาลให้เร็ว ป้องกันสุญญากาศการเมือง

เอกชนเรียกร้องตั้งรัฐบาลให้เร็ว ป้องกันสุญญากาศการเมือง

เอกชน ชี้ ประชาชนตื่นตัว หวังหลังการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักธุรกิจ หวังได้คนเก่งร่วมรัฐบาล วางนโยบายเศรษฐกิจ เดินหน้าประเทศ แนะเร่งขยายการส่งออก เปิดเอฟทีเอใหม่ ดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ลดต้นทุนทางธุรกิจ

การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค.2566 เสร็จสิ้นลงแล้ว และหลังจากนี้รอการรับรองผลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งภาคเอกชนได้ออกแสดงความกังวลถึงการขับเคลื่อนการบริหารประเทศช่วงรอยต่อของรัฐบาล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า ในวันเลือกตั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นนิมิตมายที่ดี หวังให้ทุกอย่างราบรื่นและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและทั่วโลก ที่กำลังจับตามองไทยเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการลงทุนท่ามกลางช่วงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และการย้ายฐานผลิต หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างเรียบร้อยและรวดเร็วกว่ากำหนดที่คาดไว้คือก่อนเดือน ส.ค.จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ไทยมากขึ้น

ขณะที่หากไม่เป็นไปตามกำหนดและล่าช้าไปกว่านี้จะเกิดเป็นช่วง “สุญญากาศทางการเมือง” ที่การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและโครงการค้างท่อต่างๆ จะยังหยุดชะงักและไม่สามารถไปต่อได้ สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจโดยรวมโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง หากยิ่งมีการยื้อหรือเกิดการประท้วงขึ้นก็จะส่งผลไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในตอนนี้ และทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ว่าจะโต 3-3.5% ในปีนี้

“ในเวลานี้มีการบ้านหลายเรื่องที่รอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำซึ่งยิ่งมีการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไหร่จะยิ่งเป็นประโยชน์ เพื่อเดินหน้าภารกิจการแก้ปัญหาปากท้องประชาชนอาทิปัญหาหนี้ครัวเรือน การฟื้นฟูผู้ประกอบการ SME การสร้างงานกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ”

ส.อ.ท.หวังคนเก่งเป็นรัฐมนตรี

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งในแง่การดึงดูดลงทุนและสร้างแต้มต่อให้อุตสาหกรรมในประเทศ เช่น มาตรการเรื่องต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้า การปลดล็อกกฎหมายการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ การปรับโครงสร้างพลังงานในระยะยาว

2.แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน โดยไม่ใช่เพียงการแจกเงิน แต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบและการใช้จ่ายในประเทศ การจัดสรรงบประมาณลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออก

“เอกชนคาดหวังใหมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี คนเก่ง มีคุณภาพ เข้าใจปัญหา มีการทำงานที่ประสานการข้ามกระทรวง และประสานกับเอกชนได้ดี และที่สำคัญคือไม่คอรัปชั่น”

หอการค้าแนะตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภายหลังการเลือกตั้งยังกังวลเรื่องระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกอย่างราบรื่นและมีรัฐบาลโดยไว รวดเร็วและ มีเสถียรภาพให้เดินหน้าต่อได้ อยากให้สานต่อนโยบายหลักได้อย่างต่อเนื่อง เช่น พิจารณาค่าไฟฟ้าครึ่งปีหลังที่ควรลดลง ซึ่งมีผลต่อต้นทุนส่งออกและการแข่งขัน 

ส่วนค่าแรงต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนที่ควรดูบริบทคู่แข่ง รวมถึงสานต่อเขตการค้าเสรี ที่ต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งนโยบายอุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศและนโยบายหลักนโยบายหนึ่งของพรรคการเมืองที่แข่งหาเสียงเวลานี้คือนโยบายภาคการเกษตรและอาหารที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมเพื่อจูงใจในการลงคะแนนเสียงให้ได้เป็นรัฐบาล

ทั้งนี้ นโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลควรเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ เข้าใจเรื่องความเป็นไปและความขัดแย้งของโลก เพื่อหาแนวทางเดินที่ถูกต้องของประเทศไทย เร่งฟื้นเศรษฐกิจ การสร้าง ecosystem ที่ดีให้กับ ธุรกิจและให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงบริการต่างๆของภาครัฐได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ มีโอกาสในการหาเลี้ยงชีพตัวเองได้อย่างยั่งยืน 

เสนอเร่งสปีดแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นโยบายต่างๆ ควรเริ่มจากการแก้ปัญหาเร่งด่วนทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งรัฐบาลใหม่ควรมุ่งเน้นนโยบายเสรีทางการค้า ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา แนะวางยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวยั่งยืน ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค (trading hub) และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการค้า

สำหรับข้อเสนอด้านนโยบายเสนอต่อรัฐบาลใหม่คือ ควรกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่โดยทั้งนี้รวมในกลุ่มอาหารแปรรูปและอาหารที่มีการใช้นวัตกรรม ควรมีมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้สามารถปรับตัวรับความเสี่ยงผลจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นในภาวการณ์การแข่งขันและแรงกดดันด้านมาตรการกีดกันการค้าต่างๆ

ลดกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนซึ่งเป็นต้นทุนที่ลดความสามารถในการแข่งขัน และเน้นส่งเสริมยกระดับโครงสร้างการผลิต นวัตกรรมเทคโนโลยีการส่งเสริมนโยบาย BCG Economic Model ซึ่งสอดรับกับบริบทโลกเร่งการเจรจาการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญ และสร้างโอกาสทางการค้าใน ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงตลาดที่มีกำลังซื้อสูง นโยบายควรเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและโปร่งใส

รัฐบาลผสมต้องมีเสถียรภาพ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ประชาชนตื่นตัวมากที่จะไปใช้สิทธิการเลือกตั้ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อีกทั้งพรรคการเมืองหลายๆพรรคก็มีการให้ข้อมูลนโยบายที่เป็นประโยชน์ในการบริหารแผ่นดินต่อไป 

ดังนั้นจากการประเมินการตั้งรัฐบาลพรรคเดียวอาจจะมีความเป็นไปได้น้อย การตั้งรัฐบาลนี้จึงเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งจะต้องทำให้การเลือกตั้งมีความยุติธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญปราศจากข้อสงสัยต่างๆ จากนั้นจึงสามารถตั้งรัฐบาลที่มั่นคงได้ อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลจะเกิดหลังการเลือกตั้ง คือ 

1.สร้างความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้

2.เสถียรภาพของรัฐบาล

3.ระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล

“รัฐบาลใหม่ควรมีความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ประสานสัมพันธ์กับต่างประเทศ เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ เร่งสานโครงการต่างๆที่คงค้างจากรัฐบาลที่แล้วแบบไร้รอยต่อ ประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆได้ดี สุดท้ายคือต้องมุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก” นายชัยชาญ กล่าว

หวังนายกฯ ใหม่กอบกู้เศรษฐกิจ

ทั้งนี้มองว่า เสถียรภาพและระยะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนักธุรกิจในต่างประเทศ โอกาสช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญหลังจาก COVID ทุกประเทศเร่งกอบกู้สภาพเศรษฐกิจ หากเกิดปัญหาการเมืองในประเทศจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นและมีผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาว

สำหรับรัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายเศรษฐกิจ คือ 

1.เร่งขยายการส่งออกและขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆให้รวดเร็ว สานต่อ FTA Thai-EU และ Thai-UAE รวมทั้งเปิดการเจรจา FTA กับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 

2.สานต่อและสร้างโครงการด้านโลจิสติกส์ที่ค้างอยู่ให้สามารถเชื่อมโยงเป็นระบบรองรับการขนส่งหลายรูปแบบ 

3.สนับสนุนผู้ประกอบการในการลงทุนด้าน Automation และพลังงานทดแทน 

4.เร่งบูรณาการหน่วยงานต่างๆเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขั้นในปีหน้าและถัดไปเพื่อยังคงรักษาผลิตผลการเกษตรให้มีปริมาณคงที่ต่อเนื่อง