นับถอยหลังปิดตำนาน ‘ไทยสมายล์’ โอนเครื่องบิน 20 ลำ สยายปีกในนาม TG

นับถอยหลังปิดตำนาน ‘ไทยสมายล์’ โอนเครื่องบิน 20 ลำ สยายปีกในนาม TG

นับถอยหลังอีก 7 เดือนนับจากนี้ ปิดตำนาน “ไทยสมายล์” จับตาภายในสัปดาห์หน้าจ่อเสนอคณะกรรมการเจ้าหนี้เห็นชอบควบรวมบริษัทแม่ “การบินไทย” พร้อมยกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบิน โอนสิทธิแอร์บัส A320 สยายปีกภายใต้โค้ด TG

หลังจากช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาประกาศถึงแผนปรับโครงสร้างองค์กร โดยมีแผนควบรวมสายการบินไทยสมายล์ให้กลับมาอยู่ภายใต้การบินไทย ซึ่งดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูองค์กรที่กำหนดไว้ว่าท้ายที่สุดจะต้องเหลือเพียงสายการบินไทยเป็นแบรนด์เดียวในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา “ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างดังกล่าว โดยระบุว่า ขณะนี้การบินไทยได้ศึกษาข้อดีและข้อเสียในการควบรวมสายการบินไทยสมายล์แล้วเสร็จ เตรียมนำเสนอแผนดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเห็นชอบในช่วงสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ดี หากแผนปรับโครงสร้างองค์กรได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนรายงานผลไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และดำเนินการยกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ ที่สายการบินไทยสมายล์ทำสัญญาเช่าจากการบินไทย และเริ่มขั้นตอนเร่งโอนย้ายฝูงบินทั้งหมดนี้กลับมายังการบินไทยเป็นเจ้าของในการบริหารทำการบิน

โดยขั้นตอนของการโอนสิทธิบริหารฝูงบิน 20 ลำนี้ การบินไทยจะต้องดำเนินการแจ้งไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคมด้วย อีกทั้งการปรับโครงสร้างองค์กรโอนฝูงบินทั้งหมดมายังการบินไทยนั้น ทำให้สายการบินไทยสมายล์จะไม่เหลือฝูงบินให้บริการ และท้ายที่สุดจำเป็นต้องยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการการเดินอากาศ (AOL) ซึ่งจะส่งผลให้รหัสการบินภายใต้โค้ด WE ของสายการบินไทยสมายล์สิ้นสุดลง

“ใบอนุญาต AOL ของไทยสมายล์ จะหมดอายุในเดือน ม.ค.2567 แต่เราจะยื่นขอต่ออายุไว้ก่อน เผื่อขั้นตอนต่างๆ ในการควบรวมกิจการไม่เป็นไปตามแผน เพราะขั้นตอนเหล่านี้คาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการ แต่จากการประเมินเบื้องต้น เรามีเป้าหมายว่าจะควบรวมแล้วเสร็จภายในปีนี้ กลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่การบินไทยเป็นสายการบินเดียว ให้บริการเส้นทางครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้โค้ด TG โดยไม่มีสายการบินไทยสมายล์อีกแล้วในโค้ด WE”

สำหรับผลบวกที่การบินไทยประเมินจากการควบรวมกิจการ จะส่งผลต่ออัตราการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันอัตราการใช้เครื่องบินของไทยสมายล์เฉลี่ยที่ประมาณ 9 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่การบินไทยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยประมาณ 12 - 13 ชั่วโมงต่อวัน บางกลุ่มมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยถึงประมาณ 16  ชั่วโมงต่อวัน ถือว่ามีปริมาณการใช้เครื่องบินที่หนักมาก

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่าหากการบินไทยนำเครื่องบินแอร์บัส 320 ของไทยสมายล์มาบริหารในเส้นทางบินต่างๆ นั้น จะทำให้การบินไทยใช้ประโยชน์ของเครื่องบินกลุ่มนี้ต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 11 ชั่วโมงกว่า ซึ่งสูงกว่าอยู่ที่ไทยสมายล์ 2 ชั่วโมงกว่าต่อวัน เพราะจะสามารถบริหารเส้นทางบินครอบคลุมการใช้งานทั้งในและต่างประเทศ จะเพิ่มชั่วโมงการบินในช่วงเวลากลางคืนได้ และจะลดต้นทุนต่อชั่วโมงได้ถึง 20% แค่นี้ก็เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เป็นผลบวกจากการปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว

“เราคาดว่าจะเอาเครื่องบินของไทยมายล์เข้าฝูงได้ในไตรมาส 3 ถ้าหากได้รับความเห็นชอบก็จะค่อยๆ ทยอยนำเข้ามา 4 ลำก่อน โดยตามแผนจะทำให้การบินไทยมีฝูงบินเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 65 ลำ แต่แบ่งเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างในฝูงบินของการบินไทย 45 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวแคบในฝูงบินไทยสมายล์ 20 ลำ หลังจากนี้ก็จะกลับมาเป็นของการบินไทยทั้งหมด”

สำหรับบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 17 ต.ค.2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท โดยการบินไทยถือหุ้น 100% และเริ่มทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2557 จากสนามบินสุวรรณภูมิ 10 เส้นทาง ภายใต้รหัสสายการบิน WE ต่อมาวันที่ 25 ต.ค.2557 ได้เพิ่มเส้นทางในอาเซียน จีน ไต้หวันและอินเดีย

สำหรับผลดำเนินงานของไทยสมายล์ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าขาดทุนต่อเนื่องนับตั้งแต่ตั้งสายการบินเมื่อปี 2556 และขาดทุนต่อเนื่องมาตลอด ดังนี้

ปี 2556 ขาดทุน 3.12 ล้านบาท

ปี 2557 ขาดทุน 577 ล้านบาท

ปี 2558 ขาดทุน 1,852 ล้านบาท

ปี 2559 ขาดทุน 2,081 ล้านบาท

ปี 2560 ขาดทุน 1,626 ล้านบาท

ปี 2561 ขาดทุน 2,602 ล้านบาท

ปี 2562 ขาดทุน 112 ล้านบาท

ปี 2563 ขาดทุน 3,266 ล้านบาท เป็นปีที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด

ปี 2564 ขาดทุน 3,792 ล้านบาท เป็นปีที่ขาดทุนมากที่สุดนับตั้งแต่ตั้งสายการบิน

ปี 2565 ยังไม่รายงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า