ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกหลังโควิด-19 /ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างไร? (2)

ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกหลังโควิด-19 /ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างไร? (2)

บทความตอน 2 นำเสนอระดับการใช้เทคโนโลยีในการผลิตในแต่ละสาขาธุรกิจของไทยในระดับจุลภาค และคาดการณ์จุดยืนการผลิตของไทยในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก ในยุคหลัง โควิด-19 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

“We are in an economy where it is no longer possible to produce certain goods in a single country” เราอยู่ในยุคที่ไม่สามารถผลิตสินค้าบางประเภทในประเทศเดียวได้อีกต่อไปแล้ว สะท้อนถึงความเชื่อมโยงและความได้เปรียบของการผลิตในห่วงโซ่อุปทานโลก 

ภาคการผลิตของไทยได้ลงทุนยกระดับเทคโนโลยีแข่งขัน เพื่อให้สามารถอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก 

หากพิจารณาการใช้เทคโนโลยีการผลิตของธุรกิจไทยในระดับจุลภาค ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยตัดสินใจตั้งฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ โดยใช้ข้อมูลการนำเข้าสินค้าทุนตามพิกัดศุลกากรในระบบฮาร์โมไนซ์ของกรมศุลกากร และข้อมูลนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ด้วยวิธี CrossTabs analysis สรุปได้ว่า (รูป F1)

(1) ภาคอุตสาหกรรมใช้สินค้าทุนสูงทั้งสาขาคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ และยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยนำเข้าทุนเฉลี่ย ปีละ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (50% ของมูลค่านำเข้าสินค้าทุนทั้งหมด หรือ17.1% ของมูลค่าผลผลิตภาคตนเอง)

รองลงมาคือ ภาคการค้า 14.2% และภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ 12.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสัดส่วนนำเข้าสินค้าทุน (47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี) อยู่ที่ 10% ของ GDP รวมเฉพาะภาคการผลิต

สาขาที่ใช้ทุนสูงสุด คือ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง และการผลิตเครื่องมือ/เครื่องจักร ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าทุนกลุ่มเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบขั้นกลาง 

ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกหลังโควิด-19 /ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างไร? (2)

(2) ภาคบริการสาขาการค้าใช้สินค้าทุนในอันดับรองลงมา มูลค่าเฉลี่ยปีละ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 25% ของการนำเข้าสินค้าทุนทั้งหมด สาขาการค้าส่งลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์มากกว่าการค้าปลีก แต่ภาคค้าปลีกลงทุนด้านคอมพิวเตอร์มากกว่าเป็นผลจากการเติบโตของการตลาดออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ

ส่วนสาขาขนส่งและโลจิสติกส์ลงทุนด้านคอมพิวเตอร์ในสัดส่วนสูง เพื่อรองรับการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปจับจ่ายสินค้าและบริการออนไลน์ในช่วงโควิดและจะยังใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้ต่อไป และเป็นที่น่าสังเกตว่า สาขาขนส่งทางอากาศจัดซื้อเครื่องบินใหม่ครั้งใหญ่หลังจากธุรกิจการบินกลับมาฟื้นตัว

(3) ภาคบริการอื่นๆ ใช้สินค้าทุนค่อนข้างน้อยเทียบกับภาคอื่นๆ แต่สาขา ICT มีการลงทุนในสินค้าทุนประเภทคอมพิวเตอร์ในสัดส่วนสูงกว่าสาขาบริการอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของภาคส่วนต่างๆ แต่ยังมีสัดส่วนน้อยเทียบกับภาคอุตสาหกรรม และยังมีช่องว่างให้ลงทุนเพิ่มอีกมาก

ภาคการผลิตไทยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม สูงติดอันดับที่ 12 ของโลก

เมื่อเจาะลึกการนำเข้าสินค้าทุนของไทยเฉพาะประเภทหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (หมวดHS847950) ซึ่งใช้ในการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยทำงานซ้ำ ๆ ช่วยบรรเทาแรงงานมนุษย์ และในงานที่ต้องใช้การตัดสินใจ เช่น การตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้มั่นใจถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย

ในปี 2022 มีบริษัท 524 รายนำเข้าหุ่นยนต์มูลค่า 1,963.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.1% ต่อปี ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าเป็นหลัก กระจุกตัวในสาขาการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ ยานยนต์ และการผลิตเครื่องจักร (รูป F2)

ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกหลังโควิด-19 /ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างไร? (2)

สอดคล้องกับ World Robotics Report 2022” (รูป F3) ที่ชี้ว่าในปี 2021 ไทยติดอันดับที่ 12 ของโลกที่ติดตั้งใหม่หุ่นยนต์อุตสาหกรรม จำนวน 3,900 หน่วย เพิ่มขึ้น 36% แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบไทยตื่นตัวเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งการศึกษาในอดีตพบว่า “โรงงานที่ใช้หุ่นยนต์จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 50”

เอเชียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดย 74% ของหุ่นยนต์ที่ติดตั้งใหม่ทั้งหมดในปี 2021 อยู่ในเอเชีย จีนเป็นประเทศที่ติดตั้งหุ่นยนต์ใหม่สูงสุดคือ 268,195 หน่วย (50% จากทั่วโลกที่มี 517,385 หน่วย)

ภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทย มีโอกาสเป็นศูนย์กลางการผลิตในห่วงโซ่อุปทานโลก จากจุดแข็งด้านปัจจัยพื้นฐาน และทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

งานวิจัย PricewaterhouseCoopers (2022) ชี้ว่า ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานแห่งอนาคต ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีโอกาสเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบห่วงโซ่อุปทานและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญปรับเปลี่ยนระบบห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นให้รับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดในอนาคตได้

ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกหลังโควิด-19 /ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างไร? (2)

ภายใต้กระแสการโยกย้ายห่วงโซ่อุปทานโลกที่เป็นผลจากพลวัตการค้าโลกและโรคระบาด ผลวิจัยของ KPMG1 (2021) ระบุว่า “เอเชียและ ASEAN ถูกจัดให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่าง ๆ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า" โดยเปรียบเทียบ (cost of labour, USD per hour ไทย 3.2 เยอรมนี 49.4 และสิงคโปร์ 27)

มีความพร้อมของแรงงาน และมีความสะดวกในการจัดตั้งฐานการผลิต เนื่องจากมีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีท่าเรือและสนามบินที่สำคัญในภูมิภาค และมีการเชื่อมต่อทางฐานการผลิตทั้งทางถนนและทางรถไฟที่มั่นคง (รูป F4)

ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคและโลกได้ ช่วยผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการส่งออกสำหรับผู้ผลิต โดยบริษัทหลายแห่งได้ให้ความสนใจลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทในเวียดนาม ไทย และอินเดีย

กรณีของไทยมีความได้เปรียบทางที่ตั้งทางภูมิศาสตร์คือ อยู่ใจกลางของ ASEAN เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ทำให้เหมาะสมเป็นศูนย์กลางแบบ one stop service

จากผลการสำรวจประเทศที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจของ U.S. News and World Report 2022 สอบถาม 4,500 บริษัททั่วโลก จากเกณฑ์ตัดสิน 5 ด้าน คือ ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล ระเบียบราชการ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ความเชี่ยมโยงกับภูมิภาคอื่นของโลก และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากจีน และอินเดีย และเห็นว่าการผลิตในไทยมีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมั่นคง และทำให้เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ได้ โดย ASEAN จะกลายเป็นตลาดภูมิภาคที่เติบโตเร็วสุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุต่ำกว่า 30 ปี

จากปัจจัยที่กล่าวไว้ข้างต้น คาดว่า การผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ และการผลิตยานยนต์ เป็นสาขาที่สามารถยืนอยู่ได้ในห่วงโซ่อุปทานโลก

โดยเฉพาะยานยนต์ที่ไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของผู้ผลิตจากจีน เกาหลีและญี่ปุ่นในการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานผลิตรถยนต์ EV ในระยะข้างหน้า 

แต่ไทยยังมีความท้าทายข้างหน้าหลายข้อ เช่น

(1) การพัฒนากำลังแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะทักษะขั้นสูงด้าน STEM ให้ทำงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้

(2) การสร้างโอกาสให้ SMEs เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก โดยการสนับสนุนเงินทุน ความรู้และนวัตกรรม และสร้างมาตรฐานการผลิตที่เป็นมาตรฐานและยั่งยืนที่คำนึงสิ่งแวดล้อม (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์-Net zero emissions) และแรงงานเท่าเทียม ฯลฯ และ

(3) การยกระดับกระบวนการผลิตสินค้า/บริการมาตรฐาน ให้มีมูลค่าสูงและแข่งขันได้ และการขยายสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลกให้มากขึ้น

Disclaimer: ข้อคิดเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับ ธปท.โดยการอ้างอิงข้อมูลในบทความนี้ จะต้องกระทำอย่างถูกต้อง และอ้างอิงถึงผู้เขียนชัดแจ้ง 

ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกหลังโควิด-19 /ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างไร? (2)
คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย 
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
อโนทัย พุทธารี
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)