'กกพ.' ต้านแรงกดดันไม่ไหว หาช่องแก้เงื่อนตาย 'ลดค่าไฟ'

'กกพ.' ต้านแรงกดดันไม่ไหว หาช่องแก้เงื่อนตาย 'ลดค่าไฟ'

สำนักงาน กกพ. ต้านแรงกดดันไม่ไหว เร่งหาช่องทาง หวังแก้ไขสถานการณ์เพื่อลดราคา "ค่าไฟ" ฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566

ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งกลุ่มประชาชนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบถ้วนหน้าจากค่าไฟฟ้าในงวด ม.ค.-เม.ย.2566 ที่ปรับขึ้นก้าวกระโดด และทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงการบริหารงานของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานที่ปล่อยให้โครงสร้างค่าไฟฟ้ามีสภาพในปัจจุบัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้มีการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแก้ไขสัญญา เพื่อลดต้นทุนแฝงในค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เช่น ค่าความพร้อมจ่าย ในขณะที่หน่วยงานที่กำกับดูแลค่าไฟฟ้าได้พยายามปรับสูตรคำนวณเพื่อให้ค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค.2566 ให้ลดลง

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าที่ส่งผลต่อค่าเอฟที (Ft) ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน กกพ.จึงศึกษาแนวโน้มราคาค่าไฟฟ้าที่แปรผันไปตามราคา LNG ของงวดถัดไป โดยกำหนดให้ปัจจัยการผลิตอื่นเป็นตัวแปรคงที่ ซึ่งได้ตัวเลขค่า Ft ดังนี้

1.ราคาLNG เฉลี่ย 14 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จะลดค่า Ft ได้ 30 สตางค์ต่อหน่วย

2.ราคา LNG เฉลี่ย 15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จะลดค่า Ft ได้ 26 สตางค์ต่อหน่วย

3.ราคา LNG เฉลี่ย 16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จะลดค่า Ft ได้ 23 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.ได้ใช้ตัวเลขจากปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในเวลาปัจจุบัน หาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผลิตก๊าซในอ่าวไทยได้เพิ่มขึ้นจากหลุม G1 (แหล่งเอราวัณ) ตามแผนจะทำให้อัตราค่า Ft ลดลงได้มากกว่านี้ อาจลดลงได้ถึง 50 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาก๊าซในอ่าวไทยที่ผลิตได้มีราคาถูกกว่า LNG นำเข้า 2-3 เท่าตัว ซึ่งนำมาลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ

สำนักงาน กกพ.จะติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซ LNG นำเข้า เนื่องจากราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกที่ปรากฏให้เห็นในวันนี้ จะเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในอีก 45 วันข้างหน้า เพราะกระบวนการสั่งซื้อก๊าซ LNG และขนส่งจากต้นทางมายังคลังก๊าซในประเทศไทยจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ.จะดำเนินการมาตราการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้านอื่นอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลา สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและประชาชน

นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ.ขอความร่วมมือผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัดพลังงานต่อเนื่อง เนื่องจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยของไทยเป็นแบบอัตราก้าวหน้า หากท่านยิ่งใช้ไฟฟ้าจำนวนหน่วยมาก ก็จะถูกเรียกเก็บค่าไฟในอัตราที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นลงนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของท่านเองแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนโดยรวมด้านพลังงานของประเทศด้วย

แหล่งข่าวจากสำนักงาน กกพ.กล่าวว่า หาก ปตท.สผ. เพิ่มกำลังการผลิตผลิตก๊าซตามแผนงานที่วางไว้ โดยจะเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในช่วงกลางปี 2566 และจะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปี 2566 และจะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน เม.ย.2567 ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน เพราะหากราคาแอลเอ็นจีนำเข้าถูกลง ก็จะนำไปลดค่าเอฟทีงวดถัดไปด้วย 

ดังนั้น หากเป็นไปตามที่คำนวณจะทำให้ค่าไฟฟ้ารอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 มีโอกาสเห็นค่าไฟเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนลงมาที่ 4.20-4.47 บาทต่อหน่วย

“สถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ ถือเป็นช่วงของภาคฤดูร้อน ที่ผ่านมาการใช้ไฟฟ้าช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.จึงทำให้มีการใช้ไฟเพิ่มขึ้น"แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับโครงสร้างค่าไฟมีส่วนประกอบหลายส่วน คือ

1.เชื้อเพลิง

2.ต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้า

3.ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า

4.ต้นทุนขายปลีกและจำหน่าย 

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2566 มีมติปรับลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดใหม่สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ลง 7 สตางค์ต่อหน่วย จากมติเดิม 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นการลดลง 2 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่ภาคครัวเรือนจ่ายค่าไฟอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนภาคเอกชนจ่ายค่าไฟอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย ถือว่าลดลง 63 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับการลดค่าไฟลงในครั้งดังกล่าวเป็นไปตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามนโยบายกระทรวงพลังงาน เสนอมาเพื่อยอมรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปรจาก 6 งวดเป็น 7 งวด โดยจะได้เงินลดลง 4,623 ล้านบาท โดยไม่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เนื่องจากสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณสูตรค่าเอฟที ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากการพิจารณาก่อนหน้านี้ที่ กกพ. ได้เปิดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นไปแล้ว

สำหรับการปรับขึ้นค่าเอฟทีของกกพ. เป็นการเริ่มปรับขึ้นแบบขั้นบันได โดยทะยอยเพิ่มค่าเอฟทีงวดแรกคือ ประจำงวด ม.ค.-เม.ย. 2565 ที่ 16.71 สตางค์ ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 รับภาวะราคาพลังงานขาขึ้น หลังตรึงค่าเอฟทีรับมือโควิด-19 นานกว่า 2 ปี ส่งผลให้กฟผ.ต้องแบกภาระค่าเอฟทีแทนประชาชนกว่า 1.5 แสนล้านบาท

ในขณะที่การเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพ.ค. - ส.ค.  2565 กกพ. มีมติ ให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย

ส่วนงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 กกพ. เรียกเก็บค่าเอฟทีที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ที่ประชาชนจ่าย 4 บาทต่อหน่วย 

อย่างไรก็ตาม กกพ. มีการหารือหลายครั้งเพื่อเคาะค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 อีกทั้ง จากการที่ต้องทะยอยชำระค่าเอฟทีคืน กฟผ. ดังนั้น กกพ. จึงมีมติ ปรับขึ้นค่าเอฟทีกลุ่มธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม, ภาคบริการ, โรงแรมที่ 35.52 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยที่ 5.33 บาทต่อหน่วย  เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด ขณะที่ค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านที่อยู่อาศัยยังคงเดิมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย โดยให้ใช้ก๊าซในอ่าวไทยเปป็นหลัก เพราะมีต้นทุนต่ำสุด 

ทั้งนี้ จากการปรับขึ้นค่าเอฟทีตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสวงกว้างให้ทุกฝ่ายเข้าโจมตีกระทรวงพลังงานถึงการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พรรคการเมือง ต่างออกมาเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่ แม้ว่า กกพ. จะมีมติปรับลดค่าเอฟทีงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 เหลือ หน่วยละ 4.70 บาท เท่ากันทุกกลุ่มแล้วก็ตาม แต่ทุกฝ่ายยังมองว่าเป็นราคาที่ยังสูงอยู่ สวนทางกับราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลง