‘หวังเว่ย’ เศรษฐีอันดับ 78 ของโลก กางแผนปั้น ‘เคอรี่’ ลุยโลจิสติกส์ไทย

‘หวังเว่ย’ เศรษฐีอันดับ 78 ของโลก กางแผนปั้น ‘เคอรี่’ ลุยโลจิสติกส์ไทย

“หวัง เว่ย” ประธานใหญ่ SF Express มหาเศรษฐีอันดับ 78 ของโลก เปิดแผนดันขุมทรัพย์ขนส่งโลจิสติกส์ในไทย ปั้น “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ร่วม BTS Group ชูนวัตกรรมและบริการมืออาชีพ พร้อมปักหมุดไตรมาส 3 เชื่อมขนส่ง สู่สนามบินคาร์โก้แห่งแรกของเอเชีย เพื่อเปิดประตูทางการค้า

SF Express บริษัทขนส่งพัสดุรายใหญ่ของจีน ซึ่งที่เป็นรู้จักกันในนามเฟดเอ็กซ์ เวอร์ชันจีน ในปัจจุบันมีบริการส่งด่วนครอบคลุมเกือบ 100 ประเทศรวมถึงสหรัฐและญี่ปุ่น โดยได้มีการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเสิ่นเจิ้นเมื่อต้นปี 2560 ด้วยการควบรวมกิจการแบบย้อนกลับ

ในขณะที่ธุรกิจย่อย ได้แก่ เอสเอฟ เรียลเอสเตต อินเวสต์เมนต์ ทรัสต์ และหางโจว เอสเอฟ อินทราซิตี้ อินดัสเตรียล ได้จดทะเบียนตลาดฮ่องกง ปี 2564

จุดเด่นของเอสเอฟ เอ็กซ์เพรส ภายใต้การนำของ ‘หวัง เว่ย’ ประธาน SF Express ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการขนส่งสินค้า โดยเมื่อเดือน มี.ค.2561 ได้ใบอนุญาตส่งของด้วยโดรนฉบับแรกของจีน

ก้าวสำคัญของ SF Express ในปี 2564 ได้ซื้อหุ้น 52% ใน Kerry Logistics Network (KLN) ของฮ่องกง และปัจจุบัน บริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX

ปัจจุบัน ‘หวัง เว่ย’ ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 78 ของโลกตามการจัดอันดับของฟอร์บส โดยมีความมั่งคั่ง 20,900 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลถึงวันที่ 10 พ.ค.2566)

‘หวัง เว่ย’ เปิดเผยถึงแผนพัฒนาโลจิสติกส์ และการขนส่งสินค้าที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ SF Express และ KLN โดยระบุว่า หลังจากนี้จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการขนส่งในเอเชีย หลังจากความร่วมมือของ SF Express และ KLN คือ การบริหารจัดการต้นทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมภาคบริการสู่ระดับโลก

อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการขนส่งในเอเชียจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังมีศักยภาพในการขนส่งทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ทำให้การเข้ามาถือหุ้น KLN นั้นเป็นเรื่องที่ดี และจะส่งผลบวกกับ SF Express และ KLN จากประสบการณ์ของทั้ง 2 บริษัท นำมาแลกเปลี่ยนกัน เช่น ความเชี่ยวชาญการขนส่งทางบกของ KLN และการขนส่งทางอากาศของ SF Express

‘หวังเว่ย’ เศรษฐีอันดับ 78 ของโลก กางแผนปั้น ‘เคอรี่’ ลุยโลจิสติกส์ไทย

“ถ้ามองในภาพรวมอุตสาหกรรมขนส่งในเอเชียขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปมากเนื่องจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น ต้นทุนแข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรง แต่ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง SF Express และ KLN จะเป็นการนำข้อดีของทั้งสองบริษัทมาส่งเสริมกันและกัน โดยจะนำข้อดีเหล่านี้มา วางแผนกลยุทธ์ร่วมกันเพื่อสร้างจุดเด่น สร้างความแตกต่าง นี่คือเหตุผลหลักของความร่วมมือครั้งนี้” ข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็ง"

สำหรับโอกาสการเติบโตของธุรกิจขนส่งสินค้าในไทยนั้น ต้องยอมรับว่า SF Express เริ่มพัฒนาธุรกิจจากในจีน เป็นตลาดขนส่งด่วน และใน 30 ปีที่ผ่านมา มีการขนส่งในจีนเท่านั้น แต่จีนนับเป็นตลาดขนาดใหญ่มีการแข่งขันสูง มีแรงกดดันและรูปแบบแข่งขันสูง ซึ่งการแข่งขันเหล่านี้ก็กระตุ้นให้ SF Express เกิดการพัฒนาศักยภาพและนวัตกรรมใหม่มาบริการลูกค้าเสมอ มีโมเดลโลจิสติกส์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่ง SF Express จะนำประสบการณ์เหล่านี้มาปรับใช้ในไทย

อย่างไรก็ดี หากจะเปรียบเทียบการทำธุรกิจในจีนและในไทยว่ามีการขนส่งที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรนั้น ส่วนตัวคงตอบคำถามนี้ได้ไม่ชัดเจนนัก เพราะที่ผ่านมา SF Express ดูแลตลาดจีนเป็นหลัก แต่ขณะนี้ในไทยเรามีความร่วมมือจากบริษัทจดทะเบียน คือ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป้าหมายแรกก็จะมีการนำประสบการณ์ และเทคโนโลยี นวัตกรรมการบริการต่าง ๆ ไปแบ่งปันให้กับพันธมิตร

โดยแน่นอนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนวัตกรรมบริการเหล่านี้ จะส่งผลให้เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย หรือ KEX มีการพัฒนาต่อยอดการขนส่งรูปแบบอื่นๆ เพื่อรองรับความต้องการด้านบริการขนส่งสินค้า ไม่เพียงการขนส่งด่วนที่เกิดขึ้น และจะดำเนินการโดยพันธมิตรในไทยที่เรามั่นใจคือ BTS Group ส่วน SF Express จะทำงานอยู่เบื้องหลัง

หวัง เว่ย ยังเผยด้วยว่า Key success สำคัญของการทำธุรกิจ คือการให้บริการที่แตกต่าง ไม่ได้ต้องการทำในแบบที่คู่แข่งทำ แต่ต้องนำเสนอบริการที่แตกต่าง อย่างปัจจุบันคู่แข่งรายอื่นอาจกำลังแข่งขันเสนอเรื่องราคา แต่เรากำลังสร้างระบบขนส่งคุณภาพสูง คุณภาพบริการที่ต้องปรับปรุงพัฒนาทุกปี ทุกเดือน และทุกวัน การจัดการสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการกลั่นกรองให้แตกต่างจากคู่แข่ง และการยืนหยัดบริการคุณภาพสูง ทำให้เราแตกต่างและยืนอยู่ในทุกวันนี้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

“การทำธุรกิจโลจิสติกส์บูรณาการไม่ใช่ขนส่งด่วนอย่างเดียวเป็นอีกหนึ่งโมเดลสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาให้บริการ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะส่งต่อให้เคอรี่ประเทศไทย” หวัง เว่ย กล่าว

อีกทั้ง SF Express จะใช้ประสบการณ์ทั้งหมด 30 ปี ที่พัฒนาเครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ ทักษะและความสามารถรวมไปถึงนวัตกรรมบริการ AI ระบบฟังก์ชันต่าง ๆ ถ่ายทอดให้กับเคอรี่ประเทศไทย นอกจากนี้สิ่งสำคัญของการวางรากฐานธุรกิจโลจิสติกส์ คือ การมีบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางเข้าใจบริการและนวัตกรรมการบริการ ซึ่ง SF Express มีบุคลากรที่มีประสบการณ์เหล่านี้ ก็พร้อมที่จะส่งบุคลากรมาร่วมงานกับเคอรี่ประเทศไทย และยังพร้อมที่จะสนับสนุนเงินทุนด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยการลงทุนในอนาคตได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะมีการแข่งขันลดต้นทุนนั้น แต่ SF Express ประเมินจากประสบการณ์ที่สะสมมา ไม่คิดว่าการลดต้นทุนคือทางออกเดียวของการบริหารธุรกิจ แต่ทางออกคือ การบริการที่แตกต่าง เช่น หากต้องการบริการ 5 ดาว ก็ไม่สามารถลดต้นทุนได้ ดังนั้นธุรกิจจึงควรลงทุนในเทคโนโลยี บริหารจัดการที่มีการแยกระดับต้นทุนและบริการอย่างชัดเจน เช่น มีบริการโรงแรม 5 ดาว ก็อาจมีรีสอร์ตระดับกลางไว้รองรับลูกค้าอีกระดับ เป็นต้น

“การลดต้นทุนไม่ใช่ต้นตอของการบริหาร แต่เป็นเรื่องของการบริหารต้นทุนให้ถูกต้อง คือ สิ่งสำคัญที่สุด” หวัง เว่ยกล่าว

สำหรับความร่วมมือระหว่าง SF Express และ KLN ซึ่งรวมถึงพันธมิตรเคอรี่ประเทศไทยนั้น ส่วนตัวมองว่าพันธมิตรอย่าง BTS Group มีข้อได้เปรียบในการบริหารธุรกิจในไทยอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของประสบการณ์ ทรัพยากร และความมั่งคั่งทางการเงิน ส่วนตัวจึงมั่นใจ และหวังว่าจะมีความร่วมมือที่สร้างสรรค์ และแปลกใหม่เกิดขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกันในไตรมาส 3 ปีนี้ SF Express จะเปิดให้บริการสนามบินสำหรับขนส่งสินค้าแห่งแรกของเอเชีย และแห่งที่ 4 ของโลก คือ สนามบินเอ้อโจว, ฮวาหู ในเมืองเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสนามบินแห่งนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมขนส่งในจีน ขนส่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดในจีน และสามารถให้บริการขนส่งแล้วเสร็จภายใน 18 ชั่วโมง

อีกทั้งยังมีคาร์โก้จัดเก็บสินค้าที่จะรองรับผู้ประกอบการให้สามารถมาเก็บสินค้าในโกดัง เพื่อส่งออเดอร์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน และสนามบินแห่งนี้จะเป็นฮับการขนส่ง จัดเก็บตัวอย่างสินค้า และกระจายไปยังต่างประเทศในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งโมเดลนี้จะทำให้อุตสาหกรรมขนส่งของจีนเปลี่ยนแปลงไป และสนามบินขนส่งสินค้าเอ้อโจวยังถือเป็นประตูของจีน เปิดประตูการค้าการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมายังทุกเมืองในจีน และเป็นประตูการค้าใหญ่ให้กับเอเชียด้วย

หวัง เว่ย กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หลังจากการเปิดให้บริการสนามบินเอ้อโจว ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง SF Express และ KLN จะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เพราะจะสามารถเชื่อมการขนส่งสินค้าจากไทยมายังประตูการค้าจีนแห่งนี้ และสามารถจัดส่งสินค้าครอบคลุมทุกเมืองในจีนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีใครทำได้ 

“ผมเชื่อมั่นว่ามีทีมงานที่ดีมากในไทย และหวังว่าความร่วมมือกับพันธมิตรครั้งนี้ จะดึงดูดนักลงทุนภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรรมเข้าสู่ทุกภูมิภาค ให้สามารถขนส่งสินค้าทั่วถึง และภายในปีนี้จะเริ่มผลักดันเป้าหมายนี้ให้เกิดขึ้น”