เปิดนโยบาย“อีอีซี”5พรรคการเมือง เร่งเมกะโปรเจค - เล็งรื้อโครงสร้าง กพอ.

เปิดนโยบาย“อีอีซี”5พรรคการเมือง เร่งเมกะโปรเจค - เล็งรื้อโครงสร้าง กพอ.

นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่มีหลายพรรนำมาหาเสียง รวมทั้งนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีทั้งพรรคที่ประกาศเดินหน้าต่อตามแนวทางเดิม และการเดินหน้าต่อโดยปรับปรุงเงื่อนไข 

บางพรรคการเมืองส่งสัญญาณลดทอนความสำคัญของโครงการนี้ และสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่อื่น ซึ่งไม่มุ่งเฉพาะ 3 จังหวัดในอีอีซีเท่านั้น “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์และรวบรวมแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายอีอีซีของแต่ละพรรค ดังนี้

พรรครวมไทยสร้างชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับนโยบายอีอีซี โดยเป็นนโยบายที่ รทสช.จะสานต่อเพื่อหารายได้เข้าประเทศเข้าประเทศให้ได้ 4 ล้านล้านบาท ภายในเวลา 2-3 ปี ซึ่งมีแผนการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)  สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ 

รวมถึงการลงทุนโครงสร้างดิจิทัล คือ ดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิส ซึ่งมีหลายบริษัทมาลงทุน เช่น อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (Amazon Web Services) กูเกิ้ล และหัวเหว่ย รวมทั้งจะมีอีกหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทย

ทั้งนี้ รทสช.มีบุคลากรเศรษฐกิจที่คิดนโยบายเศรษฐกิจและอีอีซี โดยได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานในอีอีซี ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 3 แสนล้านบาท เช่น นโยบายดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพมาพำนักระยะยาวในไทยตามมาตรการ LTE โดยประกาศให้วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน 10 ปี รวมถึงการปรับปรุงความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียซซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.64% บาท

เปิดนโยบาย“อีอีซี”5พรรคการเมือง เร่งเมกะโปรเจค - เล็งรื้อโครงสร้าง กพอ.

สำหรับการขับเคลื่อนการลงทุนจะจัดทำแผนดึงการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนาอีอีซีระยะต่อไปดึงการลงทุนเทคโนโลยีใหม่เข้ามาสร้างฐานการผลิตในไทยมากขึ้น ซึ่งแผนใหม่ในการดึงการลงทุนในอีอีซีภาครัฐและภาคเอกชนต้องเดินหน้าด้วยกัน เพื่อให้ได้บริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนมากขึ้น

พรรคไทยสร้างไทย 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยจะปรับปรุงแนวทางการพัฒนาอีอีซี เพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างโอกาสการลงทุนของเอสเอ็มอีไทย เช่น การสร้างคลัสเตอร์เครื่องสำอางกว่า 100 บริษัท เพื่อให้เอสเอ็มอีได้ประโยชน์ในการลงทุนในอีอีซีมากขึ้น 

พรรคพลังประชารัฐ 

นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พปชร.เป็นผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนอีอีซี โดยการเลือกตั้งปี 2566 พปชร.วางนโยบายการขับเคลื่อนอีอีซีต่อเนื่องเป็นนโนบายเร่งดำเนินการหลังเป็นรัฐบาล

การดำเนินการระยะต่อไปต้องเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีที่ล่าช้าทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 

นอกจากนี้ต้องวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมภูมิภาคอื่นเพื่อกระจายความเจริญจากอีอีซีไปภูมิภาคอื่น โดยสนับสนุนให้สร้างรถไฟทางคู่เส้นทางบึงกาฬ-อู่ตะเภา เพื่อเชื่อมอีอีซีกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รวมทั้งพรรคจะมีนโยบายให้แต้มต่อผู้ประกอบการไทย เช่น ให้ค่าเช่าที่ดินที่ถูกกว่าต่างชาติ การสนับสนุนผ่านการตั้งศูนย์ทดลองวิจัย โลจิสติกส์ และสนับสนุนยกเว้นภาษี 5-8 ปี เพื่อให้ไปแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ หรือส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้อยู่ในซัพพลายเชนโลก จากนั้นรัฐจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากเอสเอ็มอีที่แข็งแรงขึ้นขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจจากฐานราก

พรรคก้าวไกล

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การดำเนินโครงการอีอีซีในหลักการที่ถูกต้องต้องฟังเสียงจากคนในพื้นที่ว่าต้องการให้พัฒนาโครงการใด และการดึงลงทุนอุตสาหกรรมจะกระทบคนในพื้นที่อย่างไร

ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงสนับสนุนให้ปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ต้องมีกรรมการจากคนใน 3 จังหวัด ขณะที่เลขาธิการ กพอ.มีอำนาจตามกฎหมายมาก และอนุมัติหลายเรื่องกระทบคนในพื้นที่ ดังนั้นจึงสนับสนุนให้เปลี่ยนกฎหมายการคัดเลือกเลขาธิการฯ เป็นการเลือกตั้งแทน เพื่อให้คนพื้นที่มีส่วนร่วมตัดสินใจเลือกผู้บริหารสูงสุดของอีอีซี

สำหรับนโยบายการสงเสริมการลงทุนจะสนับสนุนบทบาทภาครัฐให้ส่งเสริมเอสเอ็มอีมากขึ้น จากเดิมให้สิทธิประโยชน์เอกชนรายใหญ่เป็นสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย โดยลดภาษีให้เอสเอ็มอีที่ลงทุนในอีอีซี 1.5 เท่า สนับสนุนเติมทุนคนตัวเล็ก เช่น กองทุนที่ปล่อยสินเชื่อแบบซอฟต์โลน 1 ล้านบาท ที่มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อปีละ 25,000 คน รวมทั้งเน้นการเติมตลาดให้เอสเอ็มอีค้าขายได้มากขึ้นในต่างประเทศ

พรรคเพื่อไทย 

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการ และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบาย NBZ จะตอบโจทย์ดึงลงทุนจากต่างประเทศ และช่วยส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจได้ดีกว่าอีอีซี โดย NBZ จะแก้ไขต้นตอทั้งด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรคผ่านการสร้างกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ สร้างสิทธิประโยชน์ชุดใหม่และสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ ขณะที่อีอีซีเน้นแค่สิทธิประโยชน์ดึงลงทุน 

NBZ จะมีแพ็คเกจกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ที่ครอบคลุมทุกด้าน เช่น ใบอนุญาตที่ดินทำกิน การผูกขาดและการแข่งขันทางการค้า การนำเข้าส่งออกแรงงานวีซ่าภาษีสิทธิประโยชน์ธุรกรรมการเงินทรัพย์สินทางปัญญาระบบยุติธรรม

รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนเปิดโอกาสและเป็นเขตบ่มเพาะทุนย่อยและเอสเอ็มอีให้แข่งขันกับทุนใหญ่ได้ โดยเขตธุรกิจใหม่ผนวกกับกฎหมายธุรกิจชุดใหม่จะเป็นกลไกที่ต่อสู้กับปัญหาทุนผูกขาดผ่านระบบใบอนุญาตชนิดพิเศษ 

นอกจากนี้ NBZ จะมีกฎหมายสนับสนุนและรับรองเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) และบล็อกเชนเพื่อธุรกรรมไร้รอยต่อค่าใช้จ่ายเข้าใกล้ศูนย์ การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางรวมทั้งระบบธนาคารและการค้ำประกันสินเชื่อ