รัฐเร่งเครื่อง EEC ดึงนักลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อีอีซี ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการ โครงสร้างพื้นฐานหลักโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกล่าสุดได้เริ่มงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 คืบหน้าไปแล้วกว่า 43%

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งเป็นที่รู้จักกว่า 30 ปี หรือที่เรียกว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยการพัฒนาพื้นที่เพื่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี จุฬา สุขมานพ ระบุ ความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) ที่อีอีซี ได้ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าในส่วนของภาครัฐ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างงานทางวิ่งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคมนี้ และอยู่ระหว่างส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด หรือ UTA คาดว่าจะส่งมอบในช่วงไตรมาส 3 และจะเปิดให้บริการในปี 2570 รวมถึงการพัฒนาบริการอุตุนิยมวิทยาการบิน สนามบินอู่ตะเภา ควบคู่กันไปด้วย

และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่งานก่อสร้างเดินหน้าลุล่วงด้วยดี เกิดการพัฒนาโครงการฯ ไปแล้วกว่า 43.72% ทำได้เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้ โดยคาดว่าโครงการท่าเรือมาบตาพุดฯ จะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการท่าเรือก๊าซ ส่วนที่ 1 ภายในปี 2570

การผลักดันโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี ประกาศความพร้อมจูงใจนักลงทุนอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง จะสามารถกระตุ้นให้เกิดเงินลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศใน 5 ปี (2566 – 2570) ปีละ 400,000 ล้านบาท เศรษฐกิจไทยเติบโต 4.5 – 5% ได้ต่อเนื่อง  

ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน