‘เซี่ยงไฮ้’ โปรโมทลงทุน ‘หลิงกัง-EEC’ เชื่อมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอนาคต

‘เซี่ยงไฮ้’ โปรโมทลงทุน ‘หลิงกัง-EEC’ เชื่อมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอนาคต

เซี่ยงไฮ้เดินหน้าโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติหนุนเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา ย้ำโอกาสมหานครศูนย์กลางการเงินและโลจิสติกส์ของโลก พร้อมเชื่อมโยงเขตการค้าเสรีหลิงกั่ง-อีอีซี คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซีพีชี้โอกาสไทยเข้าลงทุนธุรกิจบริการ

มหานครเซี่ยงไฮ้ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเงิน โลจิสติกส์ แฟชั่น และนวัตกรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งยังเป็นพื้นที่“นำร่อง” ที่ใช้ทดสอบทดลองนโยบายสำคัญของจีน อาทิ การปฏิรูปและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ เขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) และการจัดงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศ (China International Import Expo)

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (BOI) ร่วมจัดงานสัมมนา “ลงทุนในเซี่ยงไฮ้ ร่วมแบ่งปันอนาคต” เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นการจัดกิจกรรมโรดโชว์ต่างประเทศที่แรกของเซี่ยงไฮ้ภายหลังจากจีนเปิดประเทศ

นายกง เจิ้ง นายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีเสน่ห์สำหรับนักลงทุนทั่วโลก ด้วยโอกาสในการพัฒนาและเติบโตอีกมาก ปัจจุบัน มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก 891 บริษัท ตั้งสำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ และกว่า 531 บริษัทตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research & Development Center)

โดยในช่วงที่ผ่านมาเซี่ยงไฮ้ได้ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมประเทศก้าวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ จึงได้จัดตั้ง “หลินกั่ง” เป็นพื้นที่เขตการค้าเสรี (FTZ) พื้นที่ที่มีสิทธิประโยชน์พิเศษส่งเสริมการลงทุนและรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 

ทั้งนี้ หลิงกั่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ มีเนื้อที่ 873 ตารางกิโลเมตร ติดกับชายฝั่งทะเลด้านซีกตะวันออก มีจุดมุ่งหมายในการดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน รวมถึงการลงทุนในด้านนวัตกรรมผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ อุตสาหกรรมยา ไบโอเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การบินเชิงพาณิชย์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุใหม่ และเซมิคอนดักเตอร์ โดยขณะนี้ หลินกั่งอยู่ระหว่างการพัฒนาศูนย์ Big Data ระดับสากลเพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

ปัจจุบัน มีบริษัทที่เกี่ยวข้องมากกว่า 200 แห่ง ดึงดูดการลงทุนมูลค่ารวม 220,000 ล้านหยวน โดยในปี 2565 มีมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมสมัยใหม่มากกว่า 40% และสามารถดึงดูดการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เติบโต 9% จาก 5.5% ของปีก่อน

โดยเฉพาะบริษัทรถยนต์ TESLA ที่ลงทุนสร้างโรงงานผลิต ซึ่งที่ผ่านมามีการผลิตที่สร้างมูลค่ากว่า 263,400 ล้านหยวน มีการผลิตและส่งมอบแล้วรวม 760,000 คัน

นอกจากนี้ ยังมีการผลิตเครื่องบินพลเรือน C919 และการบริหารจัดการเดินเรือระหว่างประเทศ โดยมีบริษัทเดินเรือ 4 บริษัทบริษัทโลจิสติกส์ 12 แห่ง มาตั้งบริษัทสำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้และใช้ท่าเรือหยางซาน พัฒนาเป็นเขตปลอดภาษีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทต่างชาติเข้าจะเข้ามาลงทุนในการค้าออนไลน์

ขณะเดียวกัน บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังได้เข้าไปลงทุนในเซี่ยงไฮ้เมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งยังมีแผนจะขยายการลงทุนในเขตหลินกั่ง

นายธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของจีนมายาวนาน และตั้งแต่ที่ “สี จิ้นผิง” ได้ริเริ่มโครงการ Belt and Road Initiative ตั้งแต่ปี 2556 จีนได้กลายมาเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี 

ทั้งนี้ ในปี 2565 ปริมาณการค้าระหว่างไทยและจีนมีมูลค่าสูงถึง 135,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ จีนยังกลายเป็นประเทศที่มาลงทุนในมูลค่าสูงสุดของไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์อาหาร เวชภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์เกี่ยวกับการขนส่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ

“อุตสาหกรรมด้านการบริการเป็นโอกาสในการไปลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของผู้ประกอบการไทย อาทิ บริการทางการเงิน โรงแรม อาหาร สุขภาพและไลฟสไตล์”

ทั้งนี้ การพัฒนาความร่วมมืออย่างลึกซึ้งภายใต้กรอบความร่วมมือ TCEP และแม่โขง-ล้านช้าง รวมไปถึงยุทธศาสตร์ 4.0 ของไทย และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก “อีอีซี”

รวมถึง ความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องของการก่อสร้างทางรถไฟไทย-จีน ประเทศไทยในฐานะประเทศที่สำคัญในอาเซียน มีความเพียบพร้อมทั้งในด้านกฎระเบียบและนโยบายภาครัฐที่เอื้ออำนวยสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศด้วยทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

“เมื่อคิดถึงการลงทุนในประเทศจีน ต้องนึกถึงนครเซี่ยงไฮ้ก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งมีหลายบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ได้เข้าไปลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้แล้ว และประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เช่น เครือซีพี ปตท. สหยูเนี่ยน สามมิตร เครือดุสิตธานี และสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น”

 นับตั้งแต่ดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศจนทำให้จีนกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในฐานะเมืองที่ทันสมัยที่สุด มีกำลังการซื้อสูง และมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการลงทุน จนมีฉายาว่า “นครเซี่ยงไฮ้ เมืองที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมในทุก 3 ปี”  

ในปี 2565 GDP ของนครเซี่ยงไฮ้สูงถึงกว่า 650,000 ล้านดอลลาร์ และมาตรฐานการดำรงชีพของชาวเซี่ยงไฮ้ก็พัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นเมืองที่มีกำลังซื้อสูงสุดในประเทศจีน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นักลงทุนจีนให้ความสนใจทำเลที่ตั้งของประเทศไทยซึ่งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ใจกลางภูมิภาคอาเซียน มีระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งในอนาคต มีโอกาสที่จะเชื่อมโยงกับเขตพิเศษหลินกังของนครเซี่ยงไฮ้ได้

เขตพิเศษหลินกัง ที่เน้นส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เป็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงการลงทุนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตระหว่างทั้งสองประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น 

“ทั้งนี้ การที่ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ จึงมีความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง ที่จะเป็นฐานการผลิตของจีนเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตสูง รวมทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ที่ไทยทำร่วมกับประเทศต่าง ๆ 15 ประเทศได้ด้วย”

รายงานสถิติการลงทุนของบีโอไอ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า การลงทุนจากจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2565 จีนขึ้นมาเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งที่มีสัดส่วนถึง 18% ของการลงทุนโดยรวม และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จีนมีการยื่นคำขอลงทุนในไทย มูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น