เศรษฐกิจสหรัฐ ยังไว้ใจไม่ได้

เศรษฐกิจสหรัฐ ยังไว้ใจไม่ได้

ความวิตกเกี่ยวกับภาคธนาคารอาจทำให้ภาวะสินเชื่อตึงตัวในสหรัฐ และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจโลกกระจายไปยังเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้อะไรที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าวางใจ

มีให้ลุ้นเรื่อย ๆ กับดอกเบี้ยสหรัฐ ล่าสุด คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันพุธ (3 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2550 ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 10 ติดต่อกัน

เดิมทีเชื่อกันว่า นี่น่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย แต่ดูท่าทีของเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด น่าจะไม่ใช่อย่างนั้นเสียแล้ว เพราะเจ้าตัวระบุ “เรายังคงมุ่งมั่นอย่างมากที่จะลดเงินเฟ้อลงสู่ระดับ 2% และเราเตรียมที่จะดำเนินการมากขึ้น หากจำเป็น”

เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เช่นกันในวันพฤหัสบดี (4 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น และยังไม่มีวี่แววว่าจะลดดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงสูง

จะว่าไปแล้วทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ต่างมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมาก ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐมีมูลค่ากว่า 65,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้สหรัฐกลับมาเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 ของไทยอีกครั้งในรอบ 15 ปี

ด้านอียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยรองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านดอลลาร์ เมื่อเป็นคู่ค้าสำคัญกันขนาดนี้เกิดอะไรขึ้นย่อมส่งผลต่อไทยไม่ช้าก็เร็ว ไม่มากก็น้อย 

หนึ่งปัจจัยของสหรัฐที่นักเศรษฐศาสตร์ไทยยังจับตาต่อเนื่องคือเงินเฟ้อ แม้ทิศทางขาลงแต่ไม่ได้ลงเร็ว ดังนั้น จะมีความเสี่ยง 2 เรื่องหลัก คือ เฟดยังไม่ “ปิดประตู” การขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อยังสูง ตลาดแรงงานตึงตัวก็อาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง และอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือกระแสแบงก์ล้มตามกันแบบตัวโดมิโน เมื่อช่วงต้นสัปดาห์เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อกิจการ

ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (เอฟอาร์ซี) หลังเอฟอาร์ซีลงทุนผิดพลาดและลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากธนาคารจนเกิดความเสียหายต่อภาคธนาคารในระดับภูมิภาค

เรียกได้ว่า สัปดาห์นี้หุ้นธนาคารสหรัฐร่วงถ้วนหน้า อาทิ หุ้นแพคเวสต์ร่วง 52% และหุ้นเวสเทิร์น อัลไลแอนซ์ ร่วง 23% ตอกย้ำให้เห็นว่า บรรดานักลงทุนยังคงไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานะของธนาคารระดับภูมิภาค แม้หน่วยงานควบคุมด้านกฎระเบียบพยายามที่จะยุติวิกฤติธนาคารที่เริ่มขึ้นจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ความวิตกเกี่ยวกับภาคธนาคารอาจทำให้ภาวะสินเชื่อตึงตัวในสหรัฐ และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจโลกกระจายไปยังเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้อะไรที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าวางใจ