4 ปี ‘ประยุทธ์’ สูญเปล่า 4 เมกะโปรเจ็กต์ EEC ติดหล่ม

4 ปี ‘ประยุทธ์’ สูญเปล่า 4 เมกะโปรเจ็กต์ EEC ติดหล่ม

“พล.อ.ประยุทธ์” บริหารประเทศจนเกือบครบวาระที่ 2 ก่อนจะยุบสภา แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถผลักดันเอกชนตอกเสาเข็มสร้างเมกะโปรเจ็กต์ EEC ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง MRO

Key Points

  • พล.อ.ประยุทธ์ ผลักดัน EEC มาตลอดนับตั้งแต่เป็นรัฐบาล คสช.เพื่อต่อยอดอีสต์เทิร์นซีบอร์ด
  • รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นเมกะโปรเจ็กต์แรกที่ลงนามร่วมลงทุนเมื่อเดือน ต.ค.2562
  • การเปลี่ยนรัฐมนตรีที่กำกับดูแล EEC ทำให้การพัฒนาขาดความต่อเนื่องและขาดแรงสนับสนุน
  • ปัจจุบันยังไม่มีโครงการใดที่เอกชนคู่สัญญาเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างได้ ส่วนใหญ่ติดปัญหาส่งมอบพื้นที่

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถูกกำหนดเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเริ่มประกาศนโยบายมาตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2561 ภายหลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาล “ประยุทธ์ 1”

EEC ถูกผลักดันต่อในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” โดยในช่วงต้นรัฐบาลยังคงมี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลนโยบายนี้ต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อนหน้า

แต่เมื่อมีการลาออกครั้งใหญ่เมื่อเดือน ก.ค.2563 ทำให้รัฐมนตรีในกลุ่ม “สมคิด” ที่ดูแล EEC พ้นจากตำแหน่งไปทั้ง “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง และ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เข้ามารับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล EEC ควบกับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ความล่าช้าของหลายโครงการจึงอยู่ในความรับผิดชอบของ “สุพัฒนพงษ์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รวมทั้งเป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.)

ความล่าช้าอีกส่วนมาจากการเจรจาต่อเรองกับเอกชนคู่สัญญาในหลายโครงการทั้งก่อนการลงนามสัญญาร่วมลงทุน และหลังการลงนามสัญญาร่วมลงทุน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)  

ลงนามสัญญาร่วมลงทุนในเดือน ต.ค.2562 อีกหนึ่งโครงการที่เจอตอสะดุดทำให้ 3 ปี ที่ผ่านมาไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ โดยบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ที่เป็นคู่สัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อ้างกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เอกชนยื่นขอรัฐเยียวยาผลกระทบ

จึงเป็นที่มีของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยต้องการปรับแก้เงื่อนไขในการจ่ายค่าโอนสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และการเจรจาให้เอกชนลงทุนก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนของโครงการไฮสปีดไทบ - จีน ในช่วงดอนเมือง-บางซื่อ

ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ทางเอกชนได้ยื่นข้อเสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เคลียร์ปัญหาในทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดครบ 100% โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนที่ดิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ส่วนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนแล้ว

แต่ภาพรวมโครงการเนื่องจากการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่สามารถผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถเริ่มตอกเสาเข็มตามแผนที่ สกพอ.ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนภายในปี 2565 และเอกชนจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างในต้นปี 2566

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ในช่วงปี 2565 ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ระหว่าง สกพอ.ที่ดำเนินการแทนกองทัพเรือ กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งมีการแก้ไขมาสเตอร์อยู่หลายครั้ง

รวมถึงล่าสุดได้มีการปรับลดขนาดของอาคารผู้โดยสารลง ด้วยเหตุผลผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมการบินชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการลงนามสัญญาร่วมลงทุน

รวมทั้งยังมีความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญา ถึงแม้ว่าพื้นที่ 6,500 ไร่ ที่ได้รับสิทธิบริหารสนามบินและพื้นที่เชิงพาณิชย์จะเป็นของกองทัพเรือที่ติดปัญหาน้อยกว่าโครงการอื่น แต่ก็ยังมีความล่าช้า

ขณะที่โครงการก่อสร้างในส่วนของภาครัฐ คือ รันเวย์ 2 มีปัญหาด้านงบประมาณ โดยไม่สามารถจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้างได้ทำให้กระทรวงการคลังหาแหล่งเงินกู้มาใช้ในโครงการนี้วงเงิน 16,200 ล้านบาท จึงเป็นอีกโครงการที่ลงนามสัญญาร่วมลงทุนมาแล้วเกือบ 2 ปี แต่บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ยังไม่สามารถตอกเสาเข็มเริ่มก่อสร้างได้

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 3 เป็นการพัฒนาท่าเทียบเรือ F เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564

คู่สัญญา คือ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (จีพีซี) ที่ชนะการประมูลและเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 40% บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) 30% และบริษัท เชค โอเวอร์ซี อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด 30%

โครงการดังกล่าวมีความล่าช้าในส่วนการลงทุนของภาครัฐที่ต้องลงทุนถมทะเล ซึ่งทำให้ กทท.ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาได้ โดยจะเป็นเหตุให้เอกชนคู่สัญญายื่นขอเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้ เหมือนโครงการรถไฟความเร็วสูง

โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา

ปิดท้ายโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ปี 2565 เรียกว่าไม่ขยับ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา รัฐบาลได้มอบหมายให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหอกของการลงทุน แต่เนื่องจากการบินไทยเผชิญปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้องค์กรต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับอุตสาหกรรมการบินในปีที่ผ่านมาหยุดชะงัก ทำให้โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงยังไม่ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับนโยบายอีอีซี โดยเป็นนโยบายที่ รทสช.จะสานต่อเพื่อหารายได้เข้าประเทศเข้าประเทศให้ได้ 4 ล้านล้านบาท ภายในเวลา 2-3 ปี ซึ่งมีแผนการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)  สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์

รวมถึงการลงทุนโครงสร้างดิจิทัล คือ ดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิส ซึ่งมีหลายบริษัทมาลงทุน เช่น อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (Amazon Web Services) กูเกิ้ล และหัวเหว่ย รวมทั้งจะมีอีกหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทย

ทั้งนี้ รทสช.มีบุคลากรเศรษฐกิจที่คิดนโยบายเศรษฐกิจและอีอีซี โดยได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานในอีอีซี ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 3 แสนล้านบาท เช่น นโยบายดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพมาพำนักระยะยาวในไทยตามมาตรการ LTE โดยประกาศให้วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน 10 ปี รวมถึงการปรับปรุงความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียซซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.64% บาท