ผู้โดยสารโปรดทราบ ! เช็คสัมภาระติดตัว กพท.เปิดรายการของเหลวถือขึ้นเครื่อง

ผู้โดยสารโปรดทราบ ! เช็คสัมภาระติดตัว กพท.เปิดรายการของเหลวถือขึ้นเครื่อง

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเปิดรายการของเหลวถือขึ้นเครื่องบินได้ ย้ำต้องไม่เกิน 100 มิลลิลิตร ด้าน ทอท.เตรียมลงทุนเครื่อง CT สแกน ดันไทยปลดล็อกข้อบังคับตรวจสัมภาระของเหลว

Key Points

  • กพท.เปิดรายการของเหลวถือขึ้นเครื่องได้
  • ย้ำมาตรการยังไม่เกิน 100 มิลลิลิตร
  • ทอท.เตรียมเสนอแก้กฎใหม่ ยกเลิกตรวจของเหลว
  • กางแผนจัดซื้อเครื่อง CT Scan ปั้นสนามบินไฮเทค

หลังอุตสาหกรรมการบินกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่าอากาศยานหลายแห่งทั่วโลก เริ่มปรับตัวต่อภาคบริการเพื่อให้รองรับวิถีใหม่ ลดความแออัดที่เกิดขึ้นจากการเดินทาง และทำให้ท่าอากาศยานของตนเองเป็นจุดหมายปลายทางแรกที่นักเดินทางประทับใจ

โดยกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวของผู้ให้บริการท่าอากาศยาน เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2566 พบว่าท่าอากาศยานลอนดอน ซิตี้ (London City Airport) ของอังกฤษ ออกประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎระเบียบห้ามนำของเหลวปริมาณเกิน 100 มิลลิลิตรขึ้นเครื่องบิน หลังจากบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2006 หลังจากที่ทางท่าอากาศยานได้ลงทุนนำเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการในขั้นตอนตรวจกระเป๋า

สำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้ คือ เครื่อง CT Scan ที่สามารถมองเห็นได้ในรูปแบบ 3 มิติ ทำให้สามารถประเมินได้ว่าของเหลว หรือสิ่งของที่เป็นสัมภาระติดตัวผู้โดยสารอยู่นั้นเป็นอันตรายหรือไม่ เมื่อมีการใช้งานเครื่อง CT Scan ดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องทิ้งของเหลว หรือนำสัมภาระติดตัวออกมาตรวจสแกนเหมือนที่ผ่านมา และผู้โดยสารยังสามารถนำของเหลวไม่เกิน 2 ลิตรขึ้นเครื่องได้

ขณะที่มาตรการกำหนดในไทยนั้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึง กรณีที่ผู้โดยสารต้องการนำของเหลวประเภท LAGs ที่ย่อมาจาก Liquids ,Aerosols and Gels หรือ ของเหลว เจล สเปรย์ ติดตัวเดินทางขึ้นเครื่องไปด้วยนั้น ปัจจุบันยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎ

ผู้โดยสารสามารถนำบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุ LAGs ติดตัวไปได้ต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปริมาณความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตร (หรือ 100 กรัม หรือ 3.4 ออนซ์) และผู้โดยสารสามารถนำ LAGs ติดตัวได้มากกว่า 1 ชิ้น แต่ต้องมีปริมาณรวมกันสูงสุดคนละไม่เกิน 1 มิตร (1,000 มิลลิลิตร)

สำหรับ LAGs ที่ได้รับการยกเว้นปริมาณ ซึ่งผู้โดยสารสามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องได้ แต่ปริมาณต้องเหมาะสมกับระยะเวลาการเดินทางในแต่ละเที่ยวบิน ประกอบด้วย

  • ยา (ต้องมีใบรับรองแพทย์ ฉลาก หรือเอกสารกำกับยาที่ระบุชื่อผู้โดยสารที่จำเป็นต้องใช้ยานั้น เว้นแต่เป็นยาสามัญประจำบ้าน)
  • อาหารหรือนมสำหรับเด็กทารก
  • อาคารที่ต้องพกพาตามข้อกำหนดทางการแพทย์ หรือเพิ่มวัตถุประสงค์ทางโภชนาการ

ส่วน LAGs ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากร มีกำหนดในการติดตัวขึ้นเครื่องว่า

  • ต้องบรรจุไว้ในถุงพลาสติกที่สามารถบ่งชีร่องรอยการแกะหรือการเปิดปากถุง และมีหลักฐานแสดงว่าได้ซื้อในวันที่ผู้โดยสารเดินทาง

ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในฐานะผู้บริหาร 6 ท่าอากาศยานในไทย และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งถือเป็นประตูหลักในการต้อนรับนักเดินทางเข้าประเทศ ล่าสุด “กีรติ กิจมานะวัฒน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้เผยถึงวิสัยทัศน์ในการปรับโฉมบริการของท่าอากาศยานไทย โดยมีเป้าหมายจะผลักดันให้เป็นท่าอากาศยานที่ทันสมัยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายที่จะเร่งดำเนินการ คือ การเพิ่มศักยภาพของกระบวนการตรวจสัมภาระผู้โดยสาร เพื่อทำให้ขั้นตอนนี้สร้างความประทับใจแก่ผู้โดยสาร ลดปัญหาความแออัด เบื้องต้นมีแผนที่จะหารือร่วมกับ กพท. เพื่อพิจารณานำระบบตรวจค้นที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาให้บริการ เป็นเครื่องเอ็กซเรย์ที่ดูแสกนดูได้ 2 ทิศทาง หากได้รับการอนุมัติและนำมาติดตั้งให้บริการ จะส่งผลดีต่อผู้โดยสารที่ไม่จำเป็นต้องนำอุปกรณ์แลปท็อป หรือน้ำออกมาจากกระเป๋าก่อนเข้าจุดตรวจค้น

“ภายใน 4 ปีนี้ สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องเป็น Pilot ทั้งหมด บริการผู้โดยสารด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนบริการต่างๆ ซึ่งจุดตรวจค้นเรายังมีเป้าหมายจะเปลี่ยนเป็นเครื่อง CT scan ทั้งหมด ผู้โดยสารจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการนำสิ่งของออกจากกระเป๋า”