ข่าวดีเกษตรกร ‘ปุ๋ย’ ราคาลง- สต๊อกปุ๋ยเพียงพอ

ปัจจุบันไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะแม่ปุ๋ย คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปุ๋ยเหล่านี้มีราคาแพงมาก ตามราคาแก๊ส

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ เปิดเผยในการสัมมนา “The Big issue 2023 ปุ๋ยแพงวาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร” ระบุว่า ปัจจุบันไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะแม่ปุ๋ย คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปุ๋ยเหล่านี้มีราคาแพงมาก ตามราคาแก๊ส และยิ่งแพงมากขึ้นเมื่อเกิดภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ขณะนี้ราคาปรับลดลงแล้ว และมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีก ไม่เกิดภาวะขาดแคลน จากการตรวจสอบตัวเลขนำเข้าและเช็กสต๊อกที่มีอยู่ มีเพียงพอกับการเพาะปลูกที่จะมาถึง โดยแต่ละปีไทยมีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีรวม 4. 5 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 95% เป็นการนำเข้า ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเปิดเสรีจากทุกแห่ง แต่ส่วนใหญ่นำเข้าจากตะวันออกกลาง จีน ออสเตรเลีย รัสเซีย แคนาดา อิตาลี มูลค่าประมาณปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ช่วงวิกฤติ ปี 2565 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาปุ๋ยจะปรับลดลงแล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เกษตรกรต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยทุกการนำเข้าจากท่าเรือและจากโรงงาน เร่งต่อทะเบียนผู้ค้าปุ๋ยให้แล้วเสร็จในวันเดียว และขึ้นทะเบียนผู้ผลิตปุ๋ย ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจคุณภาพ แต่จะเร่งให้เร็วขึ้น ซึ่งแต่ละปีจะมีสูตรปุ๋ยกว่า 3,000 สูตร ที่มาขอขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังบูรณาการเพื่อตรวจวิเคราะห์ค่าดินเพื่อให้ใช้ปุ๋ยได้ถูกสูตร ถูกเวลา เชื่อมโยงกับภาคเอกชน แนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ซึ่งเป้าหมายจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ 20%

พาณิชย์ชี้สต๊อกปุ๋ยเพียงพอ

รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ร.ต.จักรา ยอดมณี ระบุ กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรช่วงที่ปุ๋ยเคมีราคาสูง ให้ลดราคาปุ๋ยลงกระสอบละ 20-25 บาท จำนวน 4.5 ล้านกระสอบ โดยเป็นปุ๋ยกว่า 48 สูตร แต่ต้องยอมรับว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถคุมราคาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะการนำเข้ามีต้นทุนที่สูงขึ้นจริง 

สำหรับปีนี้ราคาได้ปรับลดลงแล้ว และจากการเช็กสต๊อกพบว่ามีปุ๋ยอยู่ถึง 1.3 ล้านตัน คาดว่าภาคเอกชนจะทยอยนำเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนเพียงพอกับความต้องการ ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกสำรวจราคาปุ๋ยยูเรียที่เกษตรกรใช้มากที่สุด พบว่าจากราคาปีที่ผ่านมา กระสอบละ 1,600-1,700 บาท ขณะนี้ลดลงเหลือ 800-900 บาาท แต่ยังสูงอยู่จากราคาในภาวะปกติที่กระสอบละ 500 บาท

นักวิชาการจี้รัฐหนุนผลิตปุ๋ยใช้เอง 

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ระบุ ราคาปุ๋ยที่ลดลงในขณะนี้เป็นผลมาจากสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เจรจากับตุรกีเพื่ออนุญาตให้ยูเครนส่งออกสินค้าเกษตรและปุ๋ย ผ่านทะเลดำ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือน พ.ค.นี้ ดังนั้น ในระยะต่อไป จึงไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ราคาปุ๋ยได้  

ราคาปุ๋ยแพงนั้นไม่เพียงแต่จะกระทบกับเกษตรกรในประเทศเท่านั้น แต่กระทบกับความมั่นคงทางด้านอาหารของโลกด้วย ทำให้หลายประเทศมีความกังวล เนื่องจากกลุ่มประเทศที่ผูกขาดปุ๋ยในโลกนี้แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ จีนและพันธมิตร ผลิต 50 ล้านตัน สหรัฐและพันธมิตร ผลิต 50 ล้านตัน โดยเป็นกลุ่มที่ผลิตแม่ปุ๋ยที่ได้จากการแยกแก๊สและน้ำมัน ดังนั้น การที่แต่ละปีไทยนำเข้าแม่ปุ๋ย 70% และปุ๋ยสูตร 30% จึงลำบากที่จะเจรจาต่อรอง

ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยจะผลิตปุ๋ยใช้เองโดยรัฐบาลสนับสนุน เช่นเดียวกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ที่แต่ละปีอุดหนุนปุ๋ยเคมีมากขึ้น ทำให้สัดส่วนต้นทุนการผลิตปุ๋ยต่ำเพียง 10% ของต้นทุนทั้งหมด เทียบกับไทยมีสัดส่วนสูงถึง 28% 

 

พลังประชารัฐดันปุ๋ยคนละครึ่งอุ้มเกษตรกร

ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ สนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ ระบุ ปัญหาปุ๋ยแพงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ และเป็นปัญหาที่เกิดมายาวนาน แต่ครั้งนี้ถือว่ารุนแรง เพราะเกิดสงครามและมีปัญหาโควิด หากพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลสิ่งที่พรรคจะทำทันทีคือ ผลักดันนโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง ช่วยเกษตรกร 8 ล้านครัวเรือน เพื่อลดภาระเกษตรกร บนความยากลำบาก 

นอกจากนี้ นโยบายปุ๋ยสั่งตัดที่ต้องมีกลไกช่วย จึงนำนโยบายครัวเรือนละ 3 หมื่นบาทมาขับเคลื่อนทั้งเรื่องดิน เรื่องน้ำ และปุ๋ย ซึ่งจะทำให้เกิดการรวมตัวกันในการจัดซื้อปุ๋ยสั่งตัด มีทุนพอที่จะรวบรวมกัน และปุ๋ยสั่งตัดพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดต้นทุน 

พรรคมีมีนโยบายระยะสั้น ที่จะช่วยเกษตรกรทันที และมีความพร้อมที่จะผลักกันนโยบายระยะยาวที่จะผลักดันให้เกษตรกรยืนบนขาของตัวเอง ทำให้ประเทศไทยที่มีความเข้มแข็งที่สุดของภาคเกษตรกร เป็นประเทศที่จะแสดงความมั่งคั่งไห้เกษตรกร ยังไม่รวมยังอนาคตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร

 

ชาติไทยพัฒนาชูปฏิรูประบบเกษตรใหม่

รองหัวหน้าพรรคและกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ระบุ ปุ๋ยแพงเป็นปัญหาเฉพาะหน้า มองว่าเรื่องของผลผลิตรายได้ต่ำ รายได้เกษตรกรน้อยเป็นปัญหามากกว่า สิ่งที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ย ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันของธุรกิจปุ๋ย มีสูตรปุ๋ยที่สัมพันธ์กับดิน สัมพันธ์กับพืชและสัมพันธ์กับบริบทของแปลงการผลิต ใช้ปุ๋ยน้อยลงแต่มีรายได้เพิ่มขึ้น กรณีปุ๋ยแพงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าโดยเฉพาะเกษตรกรที่ยากจนรายเล็กรายน้อย จำเป็นที่รัฐต้องเข้าไปชดเชยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะจะปล่อยให้เกษตรกรตายไม่ได้ รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถผลผลิตทางการเกษตรของไทยเพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้และแก้ไขความยากจนของเกษตรกร 

นอกจากนี้ ต้องปฏิรูประบบการเกษตรซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ พรรคจะไม่แก้ปุ๋ยแพงตามสถานการณ์ แต่จะปฏิรูประบบเกษตรใหม่ ตั้งแต่เรื่องของดินโดยจะสนับสนุนให้มีการไถกลบ จัดทำน้ำบาดาล รวมถึงให้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพกับประชาชน ที่สำคัญคือวิธีการปลูกที่ได้ทดลองทำแล้วที่จังหวัดสุพรรณ อยุธยา อ่างทองและสิงห์บุรี พบว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30 % พรรคมุ่งแก้ไขปัญหาระบบเกษตร ทำน้อย ได้มากเพราะคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ