สหกรณ์ วุ่น จี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งสอบนายทะเบียนออกกฎขวางการดำเนินงาน

สหกรณ์ วุ่น จี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งสอบนายทะเบียนออกกฎขวางการดำเนินงาน

สันนิบาตสหกรณ์ฯ ร้อง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระเบียบนายทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เอื้อต่อการดำเนินงานของสหกรณ์

วันที่ 2  พฤษภาคม  2566  สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสหกรณ์  ยื่นหนังสือ พร้อมยื่นเอกสารข้อมูลจากสหกรณ์  เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกับสำนักงานตรวจการแผ่นดิน  โดยนายปรเมศวร์  อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือเรื่องขอให้พิจารณาเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุง ระเบียบและหรือพิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

สหกรณ์ วุ่น จี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งสอบนายทะเบียนออกกฎขวางการดำเนินงาน สหกรณ์ วุ่น จี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งสอบนายทะเบียนออกกฎขวางการดำเนินงาน

 

โดยมีนายเอกพจน์ ถิรวณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบและปฏิบัติการเร่งด่วน พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี อภิชาต  พงษ์สวัสดิ์ เจ้าหน้าที่สอบสวนชำนาญการ และนายวัชชกานต์ เศาภายน เจ้าหน้าที่สอบสวนปฏิบัติการ รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ 

นายปรเมศวร์  อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ (สสท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้รับข้อร้องเรียนจากสหกรณ์สมาชิกเป็นจำนวนมาก ขอให้สันนิบาตสหกรณ์ฯช่วยเหลือ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2565

ซึ่งมิชอบด้วยกฎหมาย สันนิบาตสหกรณ์ฯซึ่งเป็นตัวแทนของสหกรณ์เพื่อรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากการสนับสนุนของรัฐ ตามความในมาตรา 110(8)จึงได้จัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หารือกับขบวนการสหกรณ์ทั่วประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งมีสหกรณ์ กรรมการ ผู้จัดการ และสมาชิกสหกรณ์ทั่วทุกภาคเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก  ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1. นายทะเบียนสหกรณ์ไม่มีอำนาจในการกำหนดระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล

2.กระบวนการออกระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2565 ของอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ

รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นแก่ประชาชน ทั้งไม่เคยพิจารณาหรือแจ้งผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากระเบียบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งไม่เคยเปิดเหตุผลในการออกระเบียบแก่ประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องทราบ 

การออกระเบียบดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 

และ 3.การกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2565 ดังกล่าว เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26, 40 ที่บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ  

  

นอกจากนั้น “การสหกรณ์” เป็นกิจกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังได้บัญญัติรับรองไว้ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 75 ให้รัฐพึงส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ และมาตรา 77 บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ และก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ

รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน 

  

ซึ่งหลังจากได้รับข้อร้องเรียนจากสหกรณ์  สันนิบาตสหกรณ์ฯ  ซึ่งเป็นตัวแทนของสหกรณ์ได้มีหนังสือทักท้วงและแจ้งข้อคิดเห็นของบรรดาสมาชิกสหกรณ์ ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือนายทะเบียนสหกรณ์ทราบแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแต่ประการใด

จึงขอยื่นข้อร้องเรียนฉบับนี้มายังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริง แล้วพิจารณาเสนอแนะต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์หรือนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อให้มีการปรับปรุง ระเบียบ และพิจารณาโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ระเบียนนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2565 ดังกล่าวละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ 

  

นายปรเมศวร์  กล่าวภายหลังยื่นหนังสือว่า เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่สันนิบาตสหกรณ์ฯ จะต้องช่วยเหลือสหกรณ์สมาชิกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม วันนี้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยได้เริ่มต้นกระบวนการปกป้องและคุ้มครองสหกรณ์ทุกประเภท โดยการยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้วินิจฉัยว่าระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ. 2565 เป็นระเบียบที่ออกโดยขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน