เวียดนามขึ้นแท่น ‘โรงงานโลก’ โตแรงแซงไทย เหตุผลที่ทั่วโลกปักธงฐานการผลิต

เวียดนามขึ้นแท่น ‘โรงงานโลก’ โตแรงแซงไทย เหตุผลที่ทั่วโลกปักธงฐานการผลิต

“เวียดนาม” ขึ้นแท่นประเทศเนื้อหอม ผงาดเป็น “เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย” บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกมุ่งหน้าปักธงย้ายฐานการผลิต เพราะอุดมไปด้วยทรัพยากรคุณภาพ-ต้นทุนที่เหมาะสม-แรงงานคุณภาพ

Key Points:

  • “เวียดนาม” ขึ้นแท่น “โรงงานโลก” หลังจากได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศส้มหล่น” จากกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน
  • บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งเลือก “เวียดนาม” เป็นฐานการผลิต ด้วยปัจจัยเรื่องค่าแรง คุณภาพของแรงงาน และนโยบายทางการค้าที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติอย่างเต็มที่
  • แม้จะมีโอกาสการลงทุนเข้ามาในประเทศมากมาย แต่ก็ยังมีข้อสังเกตบางประการที่ทำให้คนในประเทศ ยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าวนิเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่ “แอปเปิล” (Apple) จะเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่แทนจีน ด้วยกระแสความไม่แน่นอนของประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้ แอปเปิลได้ทยอยย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกไปยัง “เวียดนาม” ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า จะกลายเป็น “โรงงานโลก” รายต่อไปถัดจากจีน ที่กำลังเผชิญกับคลื่นใต้น้ำว่าด้วยเรื่องสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่ลากยาวมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา รายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) สรุปออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า “Quanta Computer” ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วน “Macbook” รายใหญ่ของแอปเปิล ตัดสินใจตั้งโรงงานมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,140 ล้านบาท ในเมืองนามดินห์ ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม โดยโรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานแห่งที่ 9 ของ Quanta ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ในรายงานข่าวยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัทได้มีพิธีลงนามกับท้องถิ่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไม่ใช่แค่แอปเปิลเท่านั้นที่เลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต แต่ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก รวมถึง “Big Tech” อีกหลายแห่งที่ตั้งใจปักหมุดเวียดนามเป็นฐานที่มั่น

“กรุงเทพธุรกิจ” สรุปปัจจัยที่ทำให้เวียดนามขึ้นแท่นประเทศเนื้อหอม และอาจทะยานสู่การเป็น “เสือตัวที่ห้า” ในอนาคตอันใกล้นี้ มาให้ทุกคนไล่เรียงไปพร้อมๆ กัน

เวียดนามขึ้นแท่น ‘โรงงานโลก’ โตแรงแซงไทย เหตุผลที่ทั่วโลกปักธงฐานการผลิต

  • ต้นทุนราคาถูก ทรัพยากรคุณภาพ นโยบายที่เอื้อประโยชน์: เหตุผลที่ทำให้ทั่วโลกเลือก “เวียดนาม”

“Rest of World” องค์กรสื่อสารมวลชนระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหากำไรระบุว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนามทางตอนเหนือได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เพื่อรองรับ-ดึงดูดผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากจีนมายังเวียดนาม

โดยนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เวียดนามยังกลายเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทระดับโลกหลายแห่ง ด้วยเหตุผลเรื่องมาตรการจูงใจด้านภาษี และข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area หรือ FTA) โดยเวียดนามได้ทำข้อตกลงร่วมกับหลายประเทศ ช่วยลดกำแพงภาษีนำเข้า เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดมากขึ้น รวมถึงมีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายเท่านั้น แต่ต้นทุนการผลิตอย่างค่าแรงก็เป็นปัจจัยหลักเช่นกัน แม้เวียดนามจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่ค่าแรงในประเทศยังถูกกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

ข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม ปีพ.ศ. 2565 ระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำเวียดนามอยู่ที่ 240 บาทต่อวัน หรือราว 7,200 บาทต่อเดือน ถือเป็นตัวเลขที่มีอัตรารั้งท้ายหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน และแม้ว่าอัตราค่าแรงจะไม่สูงนัก แต่แรงงานในเวียดนามกลับมีทักษะที่ดี สามารถทำงานที่มีคุณภาพสูงและซับซ้อนได้ รวมถึงโครงสร้างประชากรในเวียดนามล้วนเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาว มีทรัพยากรมนุษย์หนาแน่น และมีประชากรผู้สูงอายุเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและมีอัตราการเกิดต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคต

เวียดนามขึ้นแท่น ‘โรงงานโลก’ โตแรงแซงไทย เหตุผลที่ทั่วโลกปักธงฐานการผลิต

  • เป็นฐานที่มั่น แต่ยังไม่สามารถชิงมูลค่าสูงสุดในห่วงโซอุปทานได้

แม้การเข้ามาของโอกาสจะทำให้เวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป ประการแรก ข้อตกลงการค้าของเวียดนามตอนนี้เป็นการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้การลงทุนจากต่างชาติอย่างเต็มที่ โดยไม่มีชาวเวียดนามเป็นซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทาน

รองประธานและเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเวียดนามมองว่า ในวงจรดังกล่าวยังขาดเรื่องการสนับสนุนภายในประเทศ เวียดนามกำลังปูพรมสำหรับต่างชาติ ยกเว้นภาษีจำนวนมากเพื่อพวกเขา เมื่อทั่วโลกตบเท้าเข้ามาในเวียดนาม บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้มาพร้อมกับซัพพลายเออร์ในมืออยู่แล้ว ทำให้เม็ดเงินไม่ได้ไหลเวียนไปยังส่วนอื่นๆ ในห่วงโซอุปทาน นอกจากการใช้เป็นฐานที่ตั้ง และดึงแรงงานเข้าสู่ระบบก็เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า โรงงานส่วนใหญ่ในเวียดนามเกี่ยวข้องกับการประกอบและการแปรรูปเป็นหลัก ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างมูลค่าต่ำที่สุดในห่วงโซ่อุปทานบริษัทเทคโนโลยี โดยปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีผลอย่างมากกับการเติบโตของ GDP รวมถึงอัตราการส่งออกและการจ้างงาน แม้ว่าวิสาหกิจที่เวียดนามเป็นเจ้าของจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของทุนต่างชาติด้านเทคโนโลยีมากนัก แต่ก็พบว่า โรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มนี้ ยังคงใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยซัพพลายเออร์จาก “FDI” (Foreign Direct Investment) หรือชิ้นส่วนที่มาจากการลงทุนจากต่างชาติ

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง เพราะยังคงเป็นจุดอ่อนสำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ แต่ก็ยังไม่มีวิธีการแก้ไขที่ดีพอ ในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องการดึงดูดทุนจากต่างชาติไปพร้อมๆ กันด้วย

 

อ้างอิง: BloombergVietnam InsiderVietnamnetTODAY