ภูมิทิศน์โครงสร้างตลาด“ปุ๋ย”เปลี่ยน พาณิชย์จับตาราคาช่วงฤดูกาลเพาะปลูก

ภูมิทิศน์โครงสร้างตลาด“ปุ๋ย”เปลี่ยน พาณิชย์จับตาราคาช่วงฤดูกาลเพาะปลูก

กรมการค้าภายใน ยันปุ๋ยเพียงแม้ความต้องการสูงช่วงเพาะปลูก เผย สต๊อกปุ๋ย 1.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 50% ขณะที่ราคาปุ๋ยลดลงต่อ จากราคาตลาดโลกที่ปรับลดลง ย้ำราคาต้องสอดคล้องกับต้นทุน ด้าน”นายกฯชาวนา” ไม่ห่วงปัญหาปุ๋ย เร่งรณรงค์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน ช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมี

ช่วงพ.ค.ที่กำลังจะมาถึงเป็นช่วงเริ่มต้นการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด  ทำให้ปัจจัยการผลิตต่างๆมีดีมานด์เพิ่มขึ้น หนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือ “ปุ๋ยเคมี” ซึ่งในปีที่ผ่านมามีราคาสูง  แต่หนึ่งปีผ่านไปสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีและโครงสร้างตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

รายงานRising Global Food Insecurity: Assessing Policy Responses A report prepared at the request of the Group of 20 (G20)เผยแพร่โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า ตลาดปุ๋ยเคมีของโลกมีรัสเซียเป็นผู้เล่นหลักด้วยศักยภาพเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนอันดับหนึ่ง เป็นผู้ส่งออกปุ๋ยโปรแตสเซียมอันดับสองและเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยฟอสฟอรัสเป็นลำดับที่สาม ดังนั้นเป็นเหตุเป็นผลว่าทำไมสงครามรัสเซีย-ยูเครนจึงมีผลกระทบต่อ“ราคาปุ๋ยเคมี”ในตลาดโลก

ทำให้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้พัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยประเทศต่างๆเพื่อรับมือกับความซับซ้อนของตลาดปุ๋ยโลก ด้วยการเพิ่มความสามารถการเข้าถึงแหล่งซัพพลายใหม่รวมถึงสร้างความมั่นใจถึงประสิทธิภาพปุ๋ยจากแหล่งใหม่ๆว่าต้องตรงกับสภาพดินในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ดี

“ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้ราคาปุ๋ยลดลงมาแล้วสัดส่วนถึง 40% ตั้งแต่ช่วงที่ราคาสูงสุดในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดราคาก๊าซธรรมชาติและการเปิดแหล่งผลิตใหม่ๆในยุโรป”

ภูมิทิศน์โครงสร้างตลาด“ปุ๋ย”เปลี่ยน พาณิชย์จับตาราคาช่วงฤดูกาลเพาะปลูก

นอกจากนี้ รายงานได้แสดงความเป็นห่วงว่าราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นและผันผวนนี้ จะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก  เพราะปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตทำให้ราคาอาหารโลกมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะในหลายประเทศแถบแอฟริกา นอกจากนี้ ราคาและซัพพลายปุ๋ยที่ทำให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิตยากขึ้นนี้ ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น ส่งกลับมาที่ประชากรโลกในหลายพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ 

ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลกด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีภาคการเกษตรเป็นหลักนั้น ได้รับผลกระทบจากปัญหาปุ๋ยเคมีขาดแคลนและมีราคาแพงเมื่อปีที่ผ่านมา

“ปราโมทย์ เจริญศิลป์” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาปุ๋ยลดลงไปมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ปรับขึ้นสูงมาก ซึ่งชาวนาก็เริ่มซื้อปุ๋ยเพื่อนำมาใช้แล้วเพราะเข้าสู่ช่วงฤดูเพาะปลูก ส่วนปริมาณปุ๋ยก็มีมากเพียงพอเนื่องจากปริมาณนำเข้าสูงมาก ซึ่งเป็นผลจากราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง และช่วงนี้ทางเรามีการรณรงค์ให้ชาวนาหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ส่วนปุ๋ยยูเรียก็จะให้ใช้น้อยลงไม่เกิน 10 กิโลกรัม(กก.)ต่อไร่ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร และลดปัญหาเพลี้ยในนาข้าว

ปัจจุบันชาวนาก็เริ่มปรับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพมากขึ้น แม้ว่าผลผลิตข้าวจะได้ปริมาณน้อยลง แต่ต้นทุนการผลิตก็น้อยตามไปด้วย ซึ่งปุ๋ยถือเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับการเพาะปลูก

“ปัญหาราคาปุ๋ยไม่มีแล้ว เพราะปริมาณและราคาก็ลดลงตามราคาตลาดโลก อีกทั้งมีการรณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพมากขึ้นก็ช่วยลดต้นทุนได้มาก และลดความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีลงด้วย และยังโชคดีที่ราคาข้าวปีนี้ดี ช่วยเกษตรได้มาก"

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน  กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การผลิต การนำเข้า การจำหน่าย และการใช้ปุ๋ยเคมี อยู่ในภาวะปกติแล้ว โดยจากการสำรวจสต็อก ปุ๋ย ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 อยู่ที่ 1.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 50%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมั่นใจได้ว่า ปุ๋ยไม่ขาดแคลนแน่นอน เนื่องจากผู้นำเข้ามีการนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาการจัดหาวัตถุดิบทำให้มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่มีความต้องการปุ๋ยสูงเพราะอยู่ในช่วงของฤดูกาลเพาะปลูกตั้งแต่เดือนพ.ค.2566 เป็นต้นไป

ส่วนในเรื่องของราคาก็ไม่มีปัญหา เพราะขณะนี้ราคาวัตถุดิบในตลาดโลกก็มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และตลาดในไทยก็ลดลงตามราคาโลก ที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากก็มาจากปัญหาของสงครามรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นถึงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2565 จนกระทั่งกลางปี 2565 ราคาก็พุ่งถึงจุดสูงสุดจากนั้นก็เริ่มปรับลดลง จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง รวมไปถึงราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับขึ้นสูงมากและปัจจุบันก็ปรับลดลงมาเช่นกัน ซึ่งปุ๋ยผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่

“ประกอบกับมีปัญหาด้านการขนส่งจากผลของสงครามรัสเซีย ปัจจุบันก็เริ่มคลี่คลายลงแม้ว่าสงครามยังไม่ยุติก็ตามแต่ผลกระทบน้อยลงทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตปุ๋ยจากรัสเซียได้ ซึ่งคาดว่าราคาก็จะมีการปรับลดลงเรื่อยๆโดยปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ราคาลดลงแล้วประมาณ 44%เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยไปขึ้นสูงสุด และแอมโมเนียมซัลเฟตราคาลดลงประมาณ 37%ส่วนปุ๋ยสูตรอื่น ๆ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และสูตร 16-20-0 ก็ปรับลดลงต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนความเป็นห่วงว่า ในช่วงของฤดูการเพาะปลูกที่จะเริ่มในเดือนพ.ค.เป็นต้นไป ความต้องการปุ๋ยก็จะมีมากขึ้นนั้น ขอให้เชื่อมั่นว่า ปริมาณปุ๋ยจะมีเพียงพอต่อความต้องการและราคาก็จะลดลง เพราะจะไม่ขึ้นตามความต้องการเนื่องจากราคาทางกรมการค้าภายในจะพิจารณาให้สอดคล้องกับต้นทุน ดังนั้นเมื่อต้นทุนการนำเข้าลดลง ราคาภายในประเทศก็ต้องลดลงตามไปด้วย

เมื่อปัจจัยการผลิตปีนี้มีทิศทางที่ลดลงแล้ว ก็เป็นความหวังของผู้บริโภคที่อยากเห็นราคาอาหารปรับลดลงตามต้นทุน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงความมั่นคงด้านอาหารอย่างถ้วนหน้าด้วย