'ค่า Ft' คืออะไร? ทำไมส่งผลต่อราคา 'ค่าไฟแพง'

'ค่า Ft' คืออะไร? ทำไมส่งผลต่อราคา 'ค่าไฟแพง'

เปิดสูตรการคำนวณ "ค่า Ft" คืออะไร และทำไมถึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคา "ค่าไฟแพง" ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันเริ่มมีข้อเสนอให้ยกเลิกค่า Ft และให้ยกเลิก "ค่าพร้อมจ่ายไฟฟ้า" ที่รัฐต้องจ่ายให้ผู้ผลิตเอกชน

Key points

  • กกพ.ปรับอัตราค่า Ft ทุก 4 เดือน และจะเริ่มคำนวณรอบใหม่หลังจากผ่านไป 3 เดือน
  • ค่า Ft คำนวณจากการลอยตัวของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ และบวกเพิ่มไปในค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟ
  • การตำนวณค่า Ft พิจารณาจากราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ รวมถึงปัจจัยอื่น เช่น ค่าไฟฟ้าฐาน, ค่าบริการรายเดือน และภาษี 
  • ปัจจุบันเริ่มมีข้อเสนอให้มีการปรับโครงสร้างค่า Ft รวมถึง "ค่าพร้อมจ่าย" ที่ต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชน

ช่วงหน้าร้อนโดยเฉพาะเดือน เม.ย.ของทุกปี แทบจะทุกบ้านต้องประสบกับปัญาหายอดเรียกเก็บ "ค่าไฟแพง" ที่ขึ้น หลายคนอาจส่งสัยนอกจากที่มีการใช้ไฟเยอะขึ้นแล้วทำให้ค่าไฟแพงแล้ว ในการเรียกเก็บค่าไฟถึงมีคำว่า Ft มาด้วยเสมอ 

ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อธิบายแบบง่ายๆ ถึงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ประจำเดือน พ.ค.–ส.ค.2566 ของคณะกรรมการการกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 ที่คำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ที่ผ่านการรับฟังความเห็นแล้ว

ค่า Ff จะถูกระบุในใบเสร็จค่าไฟฟ้าสำหรับเดือน พ.ค.–ส.ค.2566 เท่ากับ 98.27 สตางค์/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีรายละเอียด ประกอบด้วย

1.ผลการคำนวณประมาณการค่า Ft ขายปลีก ประจำเดือน พ.ค.–ส.ค.2566 เท่ากับ 293.60 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้นจากค่า Ft ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า ประจำเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ดังนี้

  • ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย (93.43 สตางค์/หน่วย) เพิ่มขึ้น 200.17 สตางค์/หน่วย
  • ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ประเภทบ้านอยู่อาศัย) (155.92 สตางค์/หน่วย) เพิ่มขึ้น 138.67 สตางค์/หน่วย

ดังนั้น Ft ในอัตรา 293.60 สตางค์/หน่วย เท่ากับการรวมกันของ 2 ส่วน คือ

1.ค่า Fuel Adjustment Cost (FAC) อัตรา 63.37 สตางค์/หน่วย

2.ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payments : AF) อัตรา 230.23 สตางค์/หน่วย


ทั้งนี้ FAC คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากฐาน (ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ค่าซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ) เท่ากับ 67.37 สตางค์/หน่วย ลดลงจากรอบที่ผ่านมา 60.15 สตางค์/หน่วย

ดังนั้น ค่า Ft ถือเป็นการลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าควบคุมไม่ได้  เช่น  ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้าฐาน, ค่าบริการรายเดือน และภาษี Vat 7% เป็นต้น

สาเหตุหลักเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นจากรอบที่ผ่านมา ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาลดลง ส่งผลทำให้ประมาณการค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าลดลง

2.แนวโน้มสถานการณ์ราคาพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น กกพ.ได้พิจารณา ดังนี้

การคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และข้อจำกัดด้านสถานภาพทางการเงินของ กฟผ.ที่ไม่อาจรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไว้บริหารจัดการเพิ่มเติมได้แล้ว

รวมถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นได้อีก จึงพิจารณาให้ทยอยจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.บางส่วน

ดังนั้นจึงส่งผลให้ค่า Ft ขายปลีกประจำเดือน พ.ค.–ส.ค. 2456 เท่ากับ 98.27 สตางค์/หน่วย เปลี่ยนแปลงจากรอบปัจจุบัน ดังนี้

ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย เพิ่มขึ้น 4.84 สตางค์/หน่วย

ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย) ลดลง 56.65 สตางค์/หน่วย

สำหรับความหมายดั้งเดิม Ft ย่อมาจากคำว่า Float time มีความหมายว่า การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้  เช่น  ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ

สูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft เป็นส่วนที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า โดยจะมีการคำนวณการปรับอัตราค่า Ft ทุก 4 เดือน

รวมทั้งเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกเดือน ซึ่งหลังจากผ่านไป 3 เดือนภายหลังประกาศแต่ละรอบ กกพ.จะเริ่มคำนวนค่า Ft เพื่อพิจารณาการปรับลดค่า Ft ในรอบการปรับถัดไป

รายงานข่าวระบุว่าเริ่มมีข้อเสนอให้มีการยกเลิกการจัดเก็บค่า Ft จากหลายฝ่าย รวมถึงพรรคการเมืองที่กำลังเสนอนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 2566

พรรคประชาธิปัตย์ มีข้อเสนอเราจะยกเลิกค่า FT เพราะหลายประเทศส่วนใหญ่ไม่มีค่า FT

นายเกียรติ สิทธิอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ค่า Ft เป็นการคิดประเมินโดยมองไปในอนาคต 4 เดือน โดยเป็นการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนเชื้อเพลิงค่าไฟจากเอกชนและจากประเทศเพื่อนบ้าน 

“ถ้าตั้งสมมติฐานผิด ก็ค่าไฟผิด ทำให้คนเดือดร้อน ค่าไฟเราแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมไม่ให้ราคาไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง เราสามารถใช้ตัวเลขย้อนหลัง 4 เดือน แล้วจะทำระบบกองทุนไว้สำหรับความผันผวนได้” นายเกียรติ กล่าว

พรรคก้าวไกล มีข้อเสนอรื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะการเปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า ที่จะลดค่าไฟ 70 สตางค์ต่อหน่วย

รวมทั้งจะชนกับกลุ่มทุนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่าย หรือ ค่า AP ของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายเป็นหนึ่งในโครงสร้างของค่า Ft