สรุป สาเหตุ ‘ค่าไฟแพง‘ เอื้อเอกชนผลิต ไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ประชาชนแบกค่า FT อ่วม

สรุป สาเหตุ ‘ค่าไฟแพง‘ เอื้อเอกชนผลิต ไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ประชาชนแบกค่า FT อ่วม

ค่าไฟพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง จากการวางนโยบายของภาครัฐ ที่มีการทำสัญญาร่วมกับเอกชนรายใหญ่มาเกี่ยวข้อง ทำให้ปัจจุบัน ไทยมีการผลิตไฟฟ้าสำรองในระบบล้นเกิน นำไปสู่ภาระของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่าใช้จ่าย และค่าซื้อไฟฟ้าในรูปแบบของ “ค่า FT”

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสว่าด้วยเรื่อง #ค่าไฟแพง ถูกพูดถึงในโซเชียลอีกครั้ง หลังประชาชนหลายหลังคาเรือนทยอยได้รับบิลค่าไฟเดือนเมษายนไปเป็นที่เรียบร้อย แม้ว่าเดือนที่ร้อนที่สุดประจำปีจะมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดือนอื่นๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักเพราะอุณหภูมิภายนอกสูง แต่ด้วยสัดส่วนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากกว่าเท่าตัวก็ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัดส่วนของ “ค่า FT” ที่คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 3 ของค่าไฟทั้งหมดด้วยซ้ำไป

“กรุงเทพธุรกิจ” สรุปสาเหตุ ที่มาที่ไป และข้อถกเถียงว่าด้วยประเด็น #ค่าไฟแพง ไล่เรียงกันตั้งแต่ต้นตอ เหตุผลประกอบจากหลายภาคส่วน รวมถึงทางออกที่ภาครัฐต้องเร่งมือ เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับค่าไฟที่แพงมากไปกว่านี้

สรุป สาเหตุ ‘ค่าไฟแพง‘ เอื้อเอกชนผลิต ไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ประชาชนแบกค่า FT อ่วม

  • นโยบายที่ผิดพลาด สัญญาที่ภาครัฐเสียเปรียบ และเคราะห์กรรมที่ตกถึงประชาชน

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ระบุว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยความมั่นคงของรัฐนั้นจะให้เอกชนเป็นเจ้าของเกิน 51 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้

ปัจจุบัน แม้ว่าเอกชนจะไม่ได้เป็นผู้จ่ายไฟฟ้าให้แก่ครัวเรือนหรือภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ไม่ได้มีการแปรรูปไฟฟ้าด้วยตนเอง แต่โมเดลการผลิตไฟฟ้าของไทยในตอนนี้มาในรูปแบบของการที่เอกชนสามารถสร้างโรงไฟฟ้าของตัวเองได้ ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่รัฐทำกับเอกชน มองผิวเผินแล้วดูเหมือนว่า การทำสัญญาดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนได้แข่งขัน-มีส่วนร่วม ไม่เป็นการผูกขาดทรัพยากรไว้ที่รัฐเพียงผู้เดียว

แต่ระหว่างบรรทัดของสัญญาที่ว่านี้ กลับทำให้ภาครัฐ “เสียเปรียบ” มากกว่า แม้ตอนนี้ไฟฟ้าสำรองในระบบของไทยจะล้นเกินความจำเป็นไปแล้ว แต่ระบบการผลิตของเอกชนไม่สามารถหยุดนิ่งได้ เพราะในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระบุว่า หากโรงไฟฟ้าเอกชนไม่เดินเครื่อง รัฐต้องจ่ายค่าพร้อมจ่ายหรือ “Take or pay” ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งค่าพร้อมจ่ายเหล่านั้นก็จะถูกส่งต่อให้กับผู้บริโภคที่เป็นปลายน้ำในรูปแบบของค่าไฟ

สรุป สาเหตุ ‘ค่าไฟแพง‘ เอื้อเอกชนผลิต ไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ประชาชนแบกค่า FT อ่วม

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ไม่ใช่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยอีกต่อไป กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตเพียง 34-35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นของภาคเอกชน และยังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวด้วย สถานการณ์ตอนนี้จึงกลายเป็นว่า ภาครัฐต้องรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน แล้วนำมาขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก่อนที่จะขายให้แก่ประชาชน

ประกอบกับเมื่อมีการตั้งโรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความจำเป็น ทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ ที่เห็นชัดที่สุด คือสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ที่แม้ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะลดลง แต่รัฐยังคงต้องจ่ายค่าพร้อมจ่ายให้กับเอกชนตามสัญญา จึงทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระตรงนี้ไปด้วย

สรุป สาเหตุ ‘ค่าไฟแพง‘ เอื้อเอกชนผลิต ไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ประชาชนแบกค่า FT อ่วม

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าเอกชนโดยส่วนใหญ่ยังใช้วัตถุดิบสำคัญในการผลิตไฟฟ้าอย่าง “ก๊าซธรรมชาติ” ซึ่งปัจจุบันก๊าซธรรมชาติราคาสูงมาก ด้วยสองปัจจัยหลัก คือ

  1. สงครามยูเครน-รัสเซีย โดยเกิดจากรัสเซียตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป สะเทือนมาถึงราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในเอเชีย
  2. ในช่วงโควิด-19 มีการชะลอการลงทุนเพราะความต้องการใช้ก๊าซน้อยลง

แต่เมื่อผ่านช่วงการระบาดใหญ่มาแล้ว หลายประเทศเริ่มฟื้นตัว ความต้องการกลับมาพร้อมกัน ทำให้มีดีมานด์ในตลาดมากกว่าซัพพลาย และเมื่อราคาก๊าซธรรมชาติสูงซึ่งก็คือต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ย่อมส่งผลให้ “ค่า FT” ที่ผันแปรไปตามต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงสูงขึ้นนั่นเอง

  • รื้อระบบสัญญา กำหนดเพดานราคา หยุดสำรองไฟฟ้าล้นเกิน - ทางออกของ #ค่าไฟแพง

ระบบสัญญาที่ผูกกับการรับซื้อและผลิตไฟฟ้าตอนนี้ กระจุกตัวอยู่ที่กฟผ. ที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว คือทั้งรับซื้อ จัดสรร และจำหน่ายให้ประชาชน ทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองในสภาวะดังกล่าว ดังนั้น สิ่งที่รัฐต้องทำอาจแบ่งออกได้เป็นสามระยะ

สรุป สาเหตุ ‘ค่าไฟแพง‘ เอื้อเอกชนผลิต ไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ประชาชนแบกค่า FT อ่วม

  • ระยะสั้น

รัฐต้องกำหนดเพดานรับซื้อไฟจากเอกชนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน ไม่ใช่การเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ากำหนดเพดานสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกฟผ. ต้องซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในราคาสูง แต่ต้องนำมาขายให้กับกฟน. และกฟภ. ในอัตราที่ต่ำกว่า ทำให้รัฐมีภาระขาดทุนกว่าปีละ 1 แสนล้าน และถูกผลักมาให้ประชาชนในรูปแบบของค่า FT

  • ระยะกลาง

รัฐต้องทบทวนสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าหรือยุติการอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งใหม่ ทบทวนแผนต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคประชาชน ข้อสังเกตอีกประการ คือ เหตุใดการมีไฟฟ้าสำรองเยอะ ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วแปลว่าซัพพลายมากกว่าดีมานด์ กลับทำให้ราคาไฟฟ้าสูงขึ้น รัฐต้องทบทวนสัญญาและข้อผูกพันอย่างเร่งด่วน เพราะต้นทุนเชื้อเพลงเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 

  • ระยะยาว

รัฐต้องสนับสนุนการนำเทคโนโลยีโซลาเซลล์มาใช้ เพื่อทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรอง เปลี่ยนจากสถานะผู้บริโภคมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า นอกจากจะทำให้ราคาค่าไฟลดลงแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า พลังงานฟอสซิล ถ่านหิน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน

การปล่อยให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้กระทบเพียงครัวเรือนและภาคธุรกิจ แต่ค่าไฟซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จะทำให้ภาพรวมของประเทศไม่มีกำลังแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาชาติได้ เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ค่าครองชีพก็ปรับตัวตาม หากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ภาคธุรกิจก็กระทบไปด้วย รวมถึงการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศก็ไม่สามารถแข่งขันได้เท่ากับเพื่อนบ้านที่มีค่าไฟหรือต้นทุนการผลิตถูกกว่าเรา

นี่คือปัญหางูกินหางที่ภาครัฐต้องทบทวน

อ้างอิง: EGATTCCIsara NewsThairathTODAYTODAY 2 PrachataiPPTVYouTube