"ทุเรียนไทย" เผชิญความท้าทาย หลังจีนผลิตทุเรียนได้

"ทุเรียนไทย"  เผชิญความท้าทาย หลังจีนผลิตทุเรียนได้

ตลาดทุเรียนไทย สะเทือน หลังจีนผลิตทุเรียนได้ เผเตรียมวางขาย มิ.ย.นี้ แถมเจอคู่แข่ง เบียดเค้กตลาดแดนมังกร ทูตพาณิชย์ แนะ รักษาคุณภาพและต่อยอดเพิ่มมูลค่า พร้อมตอกย้ำแบรนด์ทุเรียนไทย

ทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้เขตร้อนที่ขายดีที่สุดในตลาดจีน ซึ่งทุเรียนนับได้ว่าเป็นราชาผลไม้ โดย”ทุเรียนไทย”ถือเป็นผลไม้ยอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งในปี 2565   จีนนำเข้าทุเรียนจำนวน 825,000 ตัน คิดเป็น มูลค่า 4,030 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 132,990 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้จีนนำเข้าทุเรียนจากไทย 780,000 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 94.55 % ของการนำเข้าทุเรียนของจีนทั้งหมดสาเหตุที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมบริโภคทุเรียนไทยมากที่สุดเพราะทุเรียนไทยมีคุณภาพดี มีรสชาติหอมหวาน   

สำหรับในปีนี้ตลาดทุเรียนของจีนจะไม่เหมือนปีก่อนๆ อีกต่อไป เพราะทุเรียนจีนกำลังจะเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการตามรายงานของสำนักข่าว Sanya Daily  เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทุเรียนในพื้นที่เพาะปลูก 1,400 หมู่ หรือประมาณ 583.33 ไร่ ของเมืองซานย่ากำลังออกผลทุเรียนอ่อนคาต้นแล้ว และมีการคาดการณ์ว่าในเดือน มิ.ย.ปีนี้ ทุเรียนจะสุกและเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยคาดว่าจะมีผลผลิตถึง 1,750 กิโลกรัมต่อหมู่ (2.4 ไร่) ซึ่งจะสร้างมูลค่ากว่า 100,000 หยวนต่อหมู่ (2.4 ไร่) 

สำนักงานเกษตรชนบทเมืองซานย่า ให้ข้อมูลว่าเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เมืองซานย่าได้นำพันธุ์ทุเรียน เข้ามาและทำเป็นอุตสาหกรรมพิเศษอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 เทศบาลในเมืองซานย่าได้ทำการเพาะปลูก ทุเรียนไปแล้วประมาณ 10,000 หมู่ (4,166.66 ไร่) และในปีนี้มีเกือบ 3,000 หมู่ (1,250 ไร่) ที่เริ่มผลิดอกออก ผลทุเรียนแล้ว ทำให้คาดว่าปีหน้าจะมีทุเรียนของเมืองซานย่าเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น และภายใน 1 – 2 ปี  

\"ทุเรียนไทย\"  เผชิญความท้าทาย หลังจีนผลิตทุเรียนได้

ทุเรียนเมืองซานย่าจะเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวเต็มที่ ซึ่งทำให้เมืองซานย่าเตรียมสร้างสวนอุตสาหกรรมทุเรียนบน พื้นที่ 50,000 หมู่ (20,833.33 ไร่) ภายในเวลา 3 – 5 ปี และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทุเรียนสูงถึง 5,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท และจะทำให้ทุเรียนเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่ เมืองซานย่าเทียบอุตสาหกรรมมะม่วงที่เคยเพาะปลูกและได้ผลผลิตที่ดีเช่นกัน  

ข่าวจีนสามารถปลูกทุเรียนได้และมีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว สร้างความตระหนกตกใจให้กับเกษตรไทยและผู้ส่งออก ซึ่งกังวลว่าจะกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปยังจีน ยังไม่นับรวมกับคู่แข่งส่งออกทุเรียนไทย ล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ทางการจีน ได้อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามได้แล้วเพื่อรับประกันอุปทานให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ 

ปัจจุบันมูลค่าของตลาดทุเรียนจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว จากปีค.ศ. 2019 มีมูลค่า 21,000 ล้าน หยวน หรือประมาณ 105,000 ล้านบาท ขยับเป็น 52,400 ล้านหยวน หรือประมาณ 262,000 ล้านบาท และ คาดว่าในปีค.ศ. 2026 จะยังคงรักษาระดับการเติบโตเฉลี่ยต่อปี(CAGR) ที่ 20.1 %และมียอดค้าปลีก เกือบ 130,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 650,000 ล้านบาท 

นางสาวชนิดา อินปา ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)ณ เมืองชิงต่าว ประเทศจีน  มองถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยว่า ช่วงเดือนมี.ค – มิ.ย.ของทุกปี นับเป็นช่วงทองของราชาผลไม้ทุเรียนไทยในตลาดจีน โดย หลายปีที่ผ่านมานี้ ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งในตลาดจีนมาอย่างยาวนาน เนื่องจากจีนอนุญาต ให้ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้ ก็ยิ่งทำให้ปริมาณ และมูลค่า การนำเข้าทุเรียนจากไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

อย่างไรก็ดี เนื่องจากทุเรียน เป็นตลาดที่สดใส มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ประกอบการทั้งจีนและต่างประเทศจำนวนมากเข้าสู่ ตลาดแข่งขัน จนทำให้จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเทศเมื่อกลางปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา และเพิ่งจะอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์เมื่อต้นเดือนม.ค. 2023 ที่ผ่านมา  

“ทุเรียนที่จีนผลิตเองจนได้ก็กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดจีนในเดือนมิ.ย.ที่จะถึงนี้แล้ว ในระยะสั้นนี้ จะยังไม่กระทบต่อความต้องการของทุเรียนไทยมากนัก แต่ในระยะยาว เนื่องด้วยตัวเลือกทุเรียนจาก คู่แข่งในประเทศอาเซียนมีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับผลผลิตภายในประเทศของจีนที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทุกวัน อาจจะส่งผลกระทบต่อการเปรียบเทียบคุณภาพ โดยเฉพาะด้านความสดใหม่ การขนส่งในประเทศที่ใช้ ระยะเวลาสั้น ราคา และเทคโนโลยีการปลูกทุเรียนของจีนที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบในระยะต่อไปได้ “ทูตพาณิชย์ เมืองชิงต่าว กล่าว 

สำหรับแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย นั้นเห็นว่า   ผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวต้องเตรียม ตัววางแผนรับมือและกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทยอันดับหนึ่งในจีนไว้ให้ได้โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาและรักษามาตรฐานคุณภาพทุเรียนไทย การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการประชาสัมพันธ์ถึงคุณภาพของทุเรียนไทยในตลาดจีนอย่างแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึง การแปรรูปทุเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการในการบริโภคในตลาดจีนได้อย่างทันท่วงทีรวมถึงการร่วมมือ กับผู้ประกอบการจีนในการสร้างและส่งเสริมแบรนด์ทุเรียนไทยที่มีคุณภาพสูง เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ ของทุเรียนไทย ตลอดจน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การขยายช่องทางในการทำตลาด และพัฒนาช่องทางการ ขนส่งที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการที่รวดเร็วและทันสมัยมากยิ่งขึ้น เป็นต้น 

ทั้งนี้เพื่อให้ทุเรียนไทย สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดทุเรียนอันดับหนึ่งในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังคงเป็นทุเรียนหนึ่งในดวงใจ ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนมั่นคงและยั่งยืนต่อไป