อานิสงส์ส่งออกข้าวโตแรง ทำราคาข้าวเปลือกทะลุหมื่นบาท

อานิสงส์ส่งออกข้าวโตแรง  ทำราคาข้าวเปลือกทะลุหมื่นบาท

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วงเดือนม.ค. - ก.พ. 2566 มีปริมาณ 1,405,214 ตัน มูลค่า 25,404.1 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 28.2% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 38.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565

สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนก.พ. 2566 มีปริมาณ 599,696 ตัน มูลค่า 11,127 ล้านบาท โดยปริมาณลดลง 25.6% และมูลค่าลดลง 22.1% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2566 เพราะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย และบังกลาเทศมีปริมาณลดลง ประกอบกับผู้นำเข้าบางส่วนชะลอการซื้อเพื่อรอดูผลผลิตข้าวนาปรังที่จะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ 

ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 312,556 ตัน ลดลง 10% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปประเทศอิรัก อินโดนีเซีย โมซัมบิก แทนซาเนีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ญี่ปุ่น แคเมอรูน เป็นต้น 

ส่วนข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 53,894 ตัน ลดลงถึง 71.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดประจำ เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 99,380 ตัน เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐ จีน ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น

สมาคมฯ คาดว่าในเดือนมี.ค. 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000 - 730,000 ตัน เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลก มีมากขึ้นจากการที่อุปทานข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญ เช่น อินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน มีปริมาณจำกัด ขณะที่ผู้นำเข้าที่สำคัญของไทยยังคงนำเข้าทั้งข้าวขาว และข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่องเพื่อชดเชยสต็อกข้าวในประเทศที่มีปริมาณลดลง

ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมากขึ้นทำให้มีอุปทานข้าวที่ส่งออกได้มากขึ้น ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้จากการที่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34.0-34.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 5 เม.ย.2566 อยู่ที่ 505 ดอลลาร์ต่อตัน

ด้านกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง และการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 26 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 1 – 7 เม.ย.2566

ปรากฏว่าข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 13,582.47 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 417.53 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 6,680.48 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 10,936.84 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 63.16 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 1,579.00 บาท 

สำหรับข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว มีราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าราคาประกัน จึงไม่มีส่วนต่างชดเชยในงวดนี้ โดยข้าวเปลือกเจ้า มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 10,032.85 บาท สูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ตันละ 10,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว มีราคาเกณฑ์กลางตันละ 12,387.13 บาท สูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ตันละ 12,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว โดยจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิงวดที่ 26 ในวันที่ 12 เม.ย.2566

สถานการณ์การซื้อขายข้าวในตลาดช่วงนี้ ผู้แทนสมาคมค้าข้าวไทยให้ข้อมูลว่า ข้าวเจ้ามีความต้องการต่อเนื่องค่อนข้างสูง ส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ มีการซื้อขายกันตามปกติ ทำให้ราคาค่อนข้างขยับขึ้นเล็กน้อย 

สำหรับสถานการณ์การส่งออก ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศให้ข้อมูลว่า ปริมาณการส่งออกจนถึงวันที่ 5 เม.ย.2566 สามารถส่งออกข้าวได้แล้วกว่า 2.26 ล้านตัน ด้วยสถานการณ์การขนส่งทางเรือที่กลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับค่าเงินบาทที่เริ่มมีเสถียรภาพ รวมถึงประเทศที่เคยสต็อกข้าวไว้ เริ่มนำข้าวออกมาใช้ ทำให้ปริมาณข้าวในสต็อกเริ่มลดลง จึงมีแนวโน้มนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกของไทยเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งการส่งออกในปีนี้คาดว่าอาจจะได้ถึง 8 ล้านตัน โดยประมาณ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์