‘ธีระชัย’ ชี้พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ต้องแจกเงิน

"ธีระชัย" เตือนให้ประชาชนระวังนโยบายแจกเงินหาเสียง ที่แฝงอยู่ในคราบพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ต้องแจกเงิน

ถ้าใครคิดว่าผมไม่สนใจการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับประเทศไทย ก็คงไม่รู้ว่า

ผมเองเขียนหนังสือ "Bitcoin & Crypto currency ชนะขาดตลาดคริปโทเคอร์เรนซี และบิตคอยน์!" โดยยกรายได้ทั้งหมดให้แก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

และผมเองก็มีการลงทุนในเงินคริปโทฯ มาหลายปีแล้ว

ผมเคยเขียนบทความเฟซบุ๊กหลายครั้ง แนะนำให้รัฐบาลนี้คิดวางแผนรับมือเศรษฐกิจดิจิทัลแต่เนิ่นๆ

เพราะสหรัฐใส่หัวข้อนี้ไว้ในการเจรจา Asia Pacific แล้ว ไทยจะช้าไม่ได้ แต่ไม่เห็นรัฐบาลนี้ตอบสนอง

แต่ไทยต้องเลือกโมเดลที่ชาญฉลาด เพราะมีข้อดี ข้อเสีย และคนทั่วไปที่ไม่ลึกซึ้งด้านนี้ ก็จะเพลิดเพลินไปกับพรรคการเมืองขายฝัน เชื่อไปกับการใช้คำเทคนิคที่หรูหรา

ถามว่า ไทยควรจะพิจารณาโมเดลแบบใด?

 

*** โมเดล เอลซัลวาดอร์

เอลซัลวาดอร์ เริ่มต้นปี 2564 ด้วยการแจกเงินดิจิทัลแก่ประชาชน คนละ 30 ดอลลาร์ ประมาณหนึ่งพันบาท เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านเข้าถึง

รัฐบาลไม่ได้ออกเงินดิจิทัลสกุลของตนเอง แต่ใช้บิตคอยน์ โดยออกกฎหมายให้บิตคอยน์เป็นเงินชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วย)

มาตรการนี้ได้ผลทำให้มีการใช้บิตคอยน์ชำระหนี้กัน แต่ไม่มาก และที่เกิดขึ้น ก็รับแต่เฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

กลุ่มพ่อค้าเท้าเปล่าไม่ยอมรับ เพราะราคาบิตคอยน์หวือหวา และถ้าโอนเงินไปผิดที่ จะไม่สามารถแก้ไขเอาคืนได้ รวมทั้งเมื่อระบบติดขัด ทาง Call center ของรัฐบาลก็แก้ไขไม่ทัน

ความฝันที่จะสร้างเมืองบิตคอยน์เพื่อเฟื่องฟูธุรกิจดิจิทัล นั้น จนป่านนี้ก็ไม่คืบหน้า เพราะการแข่งขันต้องใช้สมอง ไม่ใช่ว่าแจกเงินแล้วคนในประเทศจะปราดเปรื่อง

สรุปแล้ว โมเดลแจกเงินแบบนี้ ยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศ (อ่านเรื่องของเอลซัลวาดอร์ในลิงก์)

*** โมเดล CBDC

อุปสรรคราคาบิตคอยน์หวือหวา นั้นแก้ได้ โดยใช้คริปโทฯ ที่โยงกับสกุลเงิน (stable coin)

ถึงแม้ในโลกคริปโทฯ มีหลาย stable coin แต่ไทยอนุญาตให้ใช้ชำระหนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่เปิดให้เงินไหลเข้าออกเสรี

ดังนั้น ไทยจะต้องใช้เงินคริปโทฯ ออกโดยภาครัฐเท่านั้น เรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC)

ประเทศออก CBDC เพื่อ 2 เป้าหมายคือ รองรับการชำระเงินข้ามพรมแดน และใช้ภายในประเทศ

รูป 2 ไทยอยู่ใน 4 ประเทศที่ร่วมระบบการโอนเงินข้ามพรมแดน กับจีน ฮ่องกง และสหพันธรัฐอาหรับ

รูป 3 สำหรับการออก CBDC เพื่อใช้ภายในประเทศนั้น นอกจากดิจิทัลหยวนของจีน ที่เหลือเป็นประเทศเล็ก คือ บาฮามาส จาไมกา และไนจีเรีย

การใช้ภายในประเทศจะเจออุปสรรคว่า พ่อค้ารายย่อยไม่ยอมใช้ เพราะทางการสามารถเข้าดูข้อมูลรายบุคคลได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ ประชาชนจะเห็นว่า เป็นแผนเพื่อจะรวบคนจนให้เข้าในระบบภาษี

ส่วนกรณีถ้าหากพรรคการเมืองไทยจะแจกเงิน 5 แสนล้านบาท โดยใช้คริปโทฯ เอกชนนั้น กฎจัดซื้อจัดจ้างจะทำให้เสี่ยงเข้าคุก

สรุปแล้ว โมเดล CBDC เพื่อใช้ภายในประเทศนั้น ยังไม่เห็นประเทศใดประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

 

ผมจึงขมวดว่า นโยบายพรรคการเมืองไทย ที่แจกเงินเป็น 10 เท่าของเอลซัลวาดอร์ นั้น เน้นแจกเงินหาเสียงเป็นหลัก ใช่หรือไม่?

และจากประสบการณ์ต่างประเทศ ลำพังการแจกเงิน จะไม่สามารถต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์