วิกฤติแบงก์สหรัฐล้มฉุดยอดปล่อยกู้ในภาคธนาคารลดฮวบช่วงท้ายเดือนมี.ค.

วิกฤติแบงก์สหรัฐล้มฉุดยอดปล่อยกู้ในภาคธนาคารลดฮวบช่วงท้ายเดือนมี.ค.

วิกฤติแบงก์สหรัฐล้มฉุดยอดปล่อยกู้ในภาคธนาคารลดฮวบช่วงท้ายเดือนมี.ค. ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น

การปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์สหรัฐลดลงเกือบ 1.05 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 29 มี.ค. ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ย้อนหลังไปจนถึงปี 2516 โดยการปล่อยกู้ที่ลดลงในสัปดาห์ล่าสุดจำนวนมากกว่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์นั้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการปล่อยเงินกู้ที่ลดลงของบรรดาธนาคารขนาดเล็ก

การปล่อยเงินกู้ที่ลดลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนมี.ค.นั้นส่งผลกระทบกับเงินกู้ประเภทต่าง ๆ อาทิ เงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเงินกู้เพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การปล่อยกู้ที่ลดลงนั้นเกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB)
เมื่อวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) ดัชนีภาวะสินเชื่อของสมาคมธนาคารอเมริกัน (American Bankers Association) ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งบ่งชี้ว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ด้านการธนาคารคาดว่า ภาวะสินเชื่อจะอ่อนแอลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่งผลให้ธนาคารต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ

 

นอกจากนี้ รายงานของเฟดที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (7 เม.ย.) ยังบ่งชี้ด้วยว่า เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลดลง 6.47 หมื่นล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ล่าสุด โดยลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกันแล้ว