เศรษฐกิจซากุระ

เศรษฐกิจซากุระ

ช่วงนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิของแถบอากาศอบอุ่นของซีกโลกเหนือ ซึ่งตรงกับฤดูร้อนมากของแถบศูนย์สูตร นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงหลบร้อน หลั่งไหลกันไปเที่ยวยังประเทศเขตอบอุ่นในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน กันเป็นจำนวนมาก

ดิฉันมีโอกาสได้ไปหลบร้อน เพื่อชมดอกซากุระในแถบภาคกลาง หรือภูมิภาคคันไซของประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ จึงขอนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันอ่านเพื่อคลายร้อนก่อนสงกรานต์นะคะ

ดอกซากุระ ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ โดยชนชั้นสูงในญี่ปุ่น นิยม “เทศกาลชมดอกไม้” ตั้งแต่สมัย เฮอัน (ค.ศ.794-1185) โดยในกลางศตวรรษที่ 19 ได้มีการนำเอาต้นซากุระพันธุ์โซเมอิ โยชิโนะเข้ามาในญี่ปุ่น และนิยมปลูกกันไปทั่วประเทศ ในฐานะไม้ประดับ และได้ผสมกลายเป็นซากุระพันธุ์ต่างๆหลายพันธุ์

ซากุระ เป็น สัญลักษณ์ของความรักและผู้หญิง รักในชีวิตที่มีค่าของเรา และความที่ดอกไม้มีช่วงเวลาบานสวยงามเพียงสั้นๆ ปรัชญาของซากุระ คือปรัชญาของความรักและความรู้สึกโชคดีที่เรามีช่วงชีวิตบนโลกใบนี้ แม้ว่าจะมีอยู่เพียงสั้นๆ นอกจากนี้ ก็ยังเป็นความรักในช่วงเวลาของความสวยงาม (ซึ่งมีอยู่สั้นๆเช่นกัน)

ช่วงเวลาที่ดอกซากุระบาน เป็นช่วงเวลาที่ตรงกับการปิดปีบัญชีของญี่ปุ่น ในวันที่ 31 มี.ค. และเป็นช่วงเวลาของการจบการศึกษา ซากุระจึงเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มชีวิตใหม่ เริ่มปีใหม่ในการทำงานอีกด้วย

ท่านคงได้ยินข่าวแล้วว่า ปีนี้ดอกซากุระบานเร็วกว่าปกติ ถึงประมาณ 10 วัน โดยเริ่มบานมาตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ตั้งใจจะไปชมซากุระ ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการชม คือในปลายเดือนมี.ค.ถึงต้นเดือนเม.ย.หลายกลุ่ม ต้องพลาดโอกาสอันดีนี้ไป

เทศกาลชมซากุระ ถือเป็นตัวอย่างของการจัดการให้มีนักท่องเที่ยวเข้าชมสถานที่เดียวกัน ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลจาก Japan Times แสดงให้เห็นว่าศาสตราจารย์ คัทซึฮิโระ มิยะโมะโตะ จากมหาวิทยาลัยคันไซ ประมาณการว่า เทศกาลชมดอกซากุระ จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีเงินสะพัดถึง 615,800ล้านเยน หรือประมาณ  160,110 ล้านบาท โดยคาดว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังจะเป็นคนญี่ปุ่น คาดว่าจะมีชาวต่างชาติมาเที่ยวในช่วงเทศกาลประมาณ 2.29 ล้านคนในปีนี้ โดยคาดว่าจะใช้จ่ายประมาณ65,400 ล้านเยน หรือประมาณ17,300ล้านบาท

ทั้งนี้คนญี่ปุ่น ใช้โอกาสนี้ในการไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปพบปะสังสรรค์ และไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หลังจากที่ต้องอยู่ในกฎระเบียบของการรักษาระหว่างเพราะโควิด-19 กันมายาวนานกว่า 3 ปี

ดิฉันได้มาสังเกตการณ์ในสถานที่ท่องเที่ยวจริง พบว่ามีคนญี่ปุ่นในสัดส่วนที่น้อยกว่าต่างชาติ คนต่างชาติที่พบส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของต่างชาติที่พบ มีชาวอินเดียบ้างเล็กน้อย ชาวตะวันตกบ้าง แต่ไม่มากนัก ส่วนคนญี่ปุ่นจะไปเที่ยวน้อยกว่า อาจจะเป็นเพราะเป็นวันทำงาน คาดว่าสุดสัปดาห์คงจะมีเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

ห้องพักของโรงแรมในเกียวโตเต็มหมดเลยค่ะ ห้องแน่นมากๆ ทางบริษัททัวร์ต่างๆบอกเลยว่า โรงแรมเรียกเก็บมัดจำกันตั้งแต่จอง และไม่มีการยืดหยุ่นในการเพิ่มจำนวนห้องเลย น่าดีใจแทนคนญี่ปุ่น ที่ดอกไม้เพียงชนิดเดียว สามารถมีอิทธิพลทำให้คนจำนวนมากหลงใหล ต้องมาชมกันจำนวนมากทุกปี

ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวไม่มีบ่นว่าเลยว่า จ่ายเงินค่าห้องพักสูงแล้ว ยังไม่ได้เห็นดอกไม้ตามที่ควรจะเห็น เพราะทุกคนเข้าใจดีว่า เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถควบคุมได้

ในสถานที่เดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อย่างดิฉันก็จะตั้งเป้าหมายว่าต้องไปให้ครบสี่ฤดูกาล จึงจะรู้สึกว่าได้เห็นสถานที่นั้นๆอย่างเต็มที่ วิธีการคือ นำรูปโปสเตอร์ของสถานที่นั้นในฤดูกาลต่างๆมาติดเอาไว้ ระหว่างที่เรามาเยี่ยมชมในฤดูร้อน เราก็จะเห็นภาพความสวยงามแปลกตาของฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ทำให้อยากกลับมาเห็นในฤดูต่างๆที่เหลือ

เทคนิคนี้ดีมากๆ ประเทศไทยเราควรจะนำมาใช้ให้มากขึ้น แม้เราจะมีฤดูกาลที่สภาพอากาศไม่ได้ต่างกันมากนัก เช่นในประเทศเขตอบอุ่น แต่ดอกไม้ใบไม้ในฤดูกาลต่างๆก็ช่วยทำให้สวยงามได้

ดอกพวงครามของเรา ก็น่าจะสู้กับวิสทีเรียได้ ชมพูพันธุ์ทิพย์ และชัยพฤกษ์ เอามาสู้กับซากุระ กุหลาบของเราก็สู้กับกุหลาบของที่อื่นๆได้

นอกจากมาชมดอกไม้และถ่ายรูปแล้ว ธุรกิจอาหารก็โหนกระแสเทศกาลชมดอกไม้อยู่ไม่น้อย มีการทำชากลิ่นซากุระ ขนมโมจิซากุระ ขนมปังน้ำโซดา ไอศกรีมท็อฟฟี่กลิ่นดอกซากุระ แม้แต่สตาร์บัคยังมีขนม และเค้กที่ออกมาขายเฉพาะในฤดูกาลนี้

อะไรที่เป็นของที่มีจำกัด คนก็จะตั้งใจรอคอยที่จะซื้อค่ะ

นอกจากนี้สินค้าอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารก็จะมีลวดลาย มีกลิ่นและมีสีชมพูของดอกซากุระด้วย

ในการมาสำรวจญี่ปุ่นครั้งนี้ ดิฉันพบว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา เขาได้ใช้โอกาสที่ไม่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆให้ดูสวยงามขึ้น สะอาดสะอ้านขึ้น และที่สำคัญคือรองรับประชากรสูงวัยได้ดีขึ้น ห้องน้ำสาธารณะในจุดพักจอดรถของทางหลวงปรับให้มีห้องน้ำของผู้สูงวัยที่ต้องใช้วีลแชร์ประมาณ25%

ข้อมูลจาก Statista แสดงว่าสัดส่วนของประชากรสูงวัยที่มีอายุเกินกว่า 65ปีในญี่ปุ่น ในปี 2021ได้ขึ้นไปถึง 29.8%แล้ว แปลว่า3ใน10 คนของคนญี่ปุ่นที่เราพบจะเป็นผู้สูงวัยที่อายุเกิน65ปี

รถยนต์ขนาดเล็ก (compact cars) ของหลายๆยี่ห้อ จะทำที่นั่งเพียง 2ที่อยู่ด้านหน้า และปรับท้ายรถให้สามารถเปิดขึ้นแล้วมีล้อเลื่อนที่จะนำวีลแชร์ไปวาง และผลักขึ้นไปเก็บ และล็อกได้โดยไม่เปลืองแรงมาก เพราะเท่าที่สังเกต คนดูแลผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ มักจะเป็นคู่ชีวิตที่แข็งแรงกว่า

เทศกาลชมดอกซากุระของปีนี้ ซึ่งเริ่มเร็วกว่าปกติ 10 วัน ก็ทยอยสิ้นสุดลง โดยเฉพาะหลังจากมีฝนตก ซึ่งดอกซากุระที่บอบบางก็จะร่วงหล่นหลังจากนำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก ในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือน และหลังจากกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นออกมาจับจ่ายใช้สอยลืม

ความทุกข์ยากลำบากและความเจ็บปวดในช่วงโควิด-19

ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน พบกับชีวิตที่สดใสในปีนี้ เหมือนซากุระบานใหม่ค่ะ

หมายเหตุ ญี่ปุ่นยังไม่ได้ประกาศให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นจึงยังมีการเข้มงวดในเรื่องของการตรวจคนเข้าเมืองโดยยังต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อยสามเข็มหรือหากไม่มีก็ต้องทำการตรวจเช็กโรคโดยวิธีการRT-PCRก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองค่ะ