“สหกรณ์”ลดฮวบ 2,000 แห่งใน 3 ปี “สันนิบาต”ขวางกฎเข้ม - จี้รัฐแก้ไข

“สหกรณ์”ลดฮวบ 2,000 แห่งใน 3 ปี “สันนิบาต”ขวางกฎเข้ม - จี้รัฐแก้ไข

สันนิบาตสหกรณ์ ชี้ระเบียบใหม่คุมกำเนิดสหกรณ์ ลดเหลือ 6,000 แห่ง เล็งถกปัญหาเสนอรัฐคุ้มครองสร้างเสถียรภาพ ด้านกรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงกฎปลดผู้จัดการอายุเกิน 60 เพื่อเปิดโอกาสรุ่นใหม่เติบโตในสายงาน

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) เปิดเผยว่า จำนวนสหกรณ์ในประเทศไทย มีจำนวนลดลงจาก 8,400 แห่ง ในปี 2562 ปัจจุบันเหลือเพียง 6,000 กว่าแห่งเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหารอบด้าน ที่รัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุน และคุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้กับระบบสหกรณ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรคที่ 3

“สหกรณ์”ลดฮวบ 2,000 แห่งใน 3 ปี “สันนิบาต”ขวางกฎเข้ม - จี้รัฐแก้ไข “สหกรณ์”ลดฮวบ 2,000 แห่งใน 3 ปี “สันนิบาต”ขวางกฎเข้ม - จี้รัฐแก้ไข “สหกรณ์”ลดฮวบ 2,000 แห่งใน 3 ปี “สันนิบาต”ขวางกฎเข้ม - จี้รัฐแก้ไข

ปัญหาที่เห็นชัดในขณะนี้ คือ ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเหนือกว่าพระราชบัญญัติสหกรณ์ โดยเรื่อง ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2566 ทางสทท. ได้รับแจ้งจาก สหกรณ์แห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญว่า เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์สั่งให้แก้ไขระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการ มิฉะนั้น จะดำเนินการกับคณะกรรมการสหกรณ์ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งนายทะเบียน

ประเด็นคือ ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเหนือกว่าพระราชบัญญัติสหกรณ์หรือไม่ ซึ่งในเรื่องระเบียบผู้จัดการสหกรณ์ฯ สสท. ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้วกว่า 30 คดี เดือนหน้าจะเห็นผลในบางเรื่อง และจะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้งในวันที่ 11 เม.ย. 2566

การปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สทท. ได้รับแจ้งจากกลุ่มที่ต้องการจัดตั้งเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ว่า ไปขอจัดตั้งเป็นสหกรณ์ประเภท “เครดิตยูเนี่ยน” แต่ได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมฯ ว่า ไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้เนื่องจากในจังหวัดมีจำนวนครบแล้ว 2 แห่งรวมทั้งอ้างว่า ต้องให้มีหนังสือสั่งการมาจากนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนจึงจะรับจดได้ ในเรื่องดังกล่าว สันนิบาตสหกรณ์ฯยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และเตรียมทำหนังสือเพื่อเข้าพบหารือนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงอย่างละเอียดพร้อมทั้งหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ตีความ “หุ้นสหกรณ์” ผิด

หุ้นสหกรณ์จากการที่ ศาลปกครองตัดสินว่าหุ้นสหกรณ์คืนไม่ได้นั้น เป็นเพราะนักกฎหมายไม่เข้าใจบริบทของ “หุ้นสหกรณ์” เพราะไม่ได้อ่านข้อกฎหมายทั้งหมด ซึ่งในมาตรา 33 (2) ระบุว่า ทุนสหกรณ์แบ่งเป็นหุ้นๆ ละเท่าๆ กันเป็นการเขียนคล้ายๆ กับบริษัทแต่ของบริษัทระบุชัดว่า กลุ่มคนที่ตั้งบริษัทต้องตั้งเพื่อจะประกอบกิจการ

แต่สหกรณ์ไม่ได้ตั้งเพื่อประกอบกิจการ เพียงแต่ตั้งเพื่อช่วยเหลือสมาชิก ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมคือ ส่วนต่างที่ทำให้ความหมายต่างกัน และในพระราชบัญญัติสหกรณ์ไม่มีคำว่าผู้ถือหุ้นมีแต่คำว่า “สมาชิก” ผู้ถือหุ้นในบริษัทคือ ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการทำธุรกิจร่วมกัน

การลงหุ้นของสหกรณ์นั้นคือ การลงขันเพื่อจัดสรรปันผลตามมาตรา 60 ตามหุ้นตามสัดส่วนที่ได้ลงขันกันไว้ เงินที่ลงขันเมื่อเราไม่อยากเป็นสมาชิก ตาย หรือถูกให้ออก ต้องได้รับคืน รวมถึงหุ้นสหกรณ์ไม่เคยเข้าตลาดหลักทรัพย์เพราะไม่เคยแสวงหาผลกำไร แต่การถือหุ้นบริษัทเมื่อลาออกต้องขายหุ้นทิ้ง ต่อไปเมื่อแก้กฎหมายต้องเพิ่มคำจำกัดความด้วยว่า หุ้นสหกรณ์หมายถึงอะไร การใช้คำเดียวกันก่อให้เกิดความสับสน

ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดสันนิบาตสหกรณ์ จะหารือในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ ในวันที่ 11 เม.ย. นี้ก่อนนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป

ปิดบัญชีไม่ลงนายทะเบียนสั่งยุบเลิก

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การปิดตัวของสหกรณ์กว่า 2,000 แห่ง เป็นผลมาจากสหกรณ์เหล่านั้น ไม่สามารถปิดงบบัญชีได้เป็นปัญหาที่กรมส่งเสริมสหกรณ์พยายามแก้ไขร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และเมื่อไม่สามารถดำเนินการได้ต่อ ทางนายทะเบียนจึงตัดสินใจยุบเลิก ซึ่งจากนี้ไปสหกรณ์ที่มีอยู่จะเหลือแต่กลุ่มที่มีคุณภาพ ถือว่าเป็นการตัดเกรดไปในตัว ความเชื่อมั่นก็จะกลับคืนมา

นอกจากนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ออกระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ เมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ เท่านั้นเป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน และสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ ให้สืบทอดกันไปเกิดการบริหารจัดการที่ดีในสหกรณ์ ซึ่งจะสร้างความมั่นคง และมีผลดีต่อความเจริญก้าวหน้าของบุคลากรของสหกรณ์

“ที่ผ่านมาเกณฑ์การพ้นอายุเมื่อครบ 60 ปีนั้น กำหนดไว้อยู่แล้ว หลีกเลี่ยงโดยทำสัญญาจ้างต่อจาก 60 เป็น 65 ปี สูงสุด 80 ปี ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ถึงความไม่ชอบมาพากล ซึ่งหลังจากนี้ไป สหกรณ์ที่ยังมีสัญญาจ้างอยู่จะดำเนินการว่าจ้างได้จนครบสัญญาเท่านั้น และจะไม่มีการจ้างผู้มีอายุเกิน 60 ปีได้อีก”

การจ้างผู้เกษียณอายุมาเป็นผู้จัดการ ทำให้เกิดการร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภายในสหกรณ์หลายประเด็น รวมถึงค่าตอบแทนของผู้จัดการบางแห่งที่กำหนดในอัตราที่สูงเกินฐานะของสหกรณ์ที่จะจ่ายได้ และสหกรณ์ที่เกิดการทุจริตหลายแห่งผู้กระทำการทุจริตคือ ผู้จัดการสหกรณ์ที่เกษียณอายุแล้ว และมีการขอขยายอายุการทำงาน และต่อสัญญาจ้างกันมา ซึ่งข้อมูลผลการสำรวจ ณ ปัจจุบัน พบว่ามีสหกรณ์ที่จ้างผู้จัดการทำงาน และต่อสัญญาจ้างกัน ซึ่งข้อมูลผลการสำรวจ ณ ปัจจุบัน พบว่ามีสหกรณ์ที่จ้างผู้จัดการที่อายุเกิน 60 ปี ไว้แล้ว มีจำนวน 115 สหกรณ์ จากสหกรณ์ที่มีการจ้างผู้จัดการ 3,717 สหกรณ์ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการออกระเบียบฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สหกรณ์มีการสร้าง และทดแทนตำแหน่งผู้จัดการ ให้สืบทอดกันไปรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีในสหกรณ์ อันจะสร้างความมั่นคง และมีผลดีต่อความเจริญก้าวหน้าของบุคลากรของสหกรณ์ในระดับผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้างานของสหกรณ์ในอนาคตต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์