กฟผ. ลุยเพิ่มกำลังผลิตไฟสะอาดจาก 9 เขื่อน กว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์

กฟผ. ลุยเพิ่มกำลังผลิตไฟสะอาดจาก 9 เขื่อน กว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์

กฟผ. พร้อมเพิ่มกำลังผลิตไฟสะอาดจาก 9 เขื่อน กว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ เสริมศักยภาพระบบไฟฟ้าประเทศ ย้ำเทคโนโลยีอนาคตช่วยดึงราคาพลังงานสะอาด

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวบรรยายในงานสัมมนา GO GREEN 2023 Business Goal to the Next Era หัวข้อ "Business Big Move ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว" จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ในการทำธุรกิจให้เป็นสีเขียวได้นั้น กฟผ. ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกมาประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

กฟผ.  ทั้งนี้ ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย

1. Sources Transformation การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่

รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัย และพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 65% นั้น มาจากก๊าซธรรมชาติ 20% ถ่านหินและลิกไนต์ 15% ดังนั้นในส่วนที่เป็นพลังงานหมุนเวียนยังต้องเพิ่มอีกเยอะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนน้อยมาก โอกาสที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะมั่นใจได้ว่าไฟที่ใช้เป็นพลังงานสีเขียว จะต้องมีใบการันตีหรือใบรับรองเพื่อรู้ว่าบ้านหรือธุรกิจมีการใช้ไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสีเขียว

"กฟผ.ทรานฟอร์มสัดส่วนผลิตโรงไฟฟ้าใหม่เดิม 6,150 เมกะวัตต์ เพื่อมุ่งสู่โรงไฟฟ้าสะอาดเป้าหมายกว่า 10,000 เมกะวัตต์ นั้นหากมีสัดส่วนของโซลาร์ทั้งหมดจะยากเพราะโอกาสเดินเครื่องตลอดเวลาไม่ได้" 

ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์อย่างเต็มกำลังเก่งสุดที่ระดับ 20% กฟผ.ได้ยกระดับเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยเพิ่มกำลังผลิตจากเนื้อที่ 10 ไร่ เดิมผลิตไฟสะอาดได้ 1 เมกะวัตต์ เป็น 2 เมกะวัตต์

ดังนั้น กฟผ.อยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่เขื่อน 9 แห่ง ให้มีศักยภาพผลิตไฟสะอาด 10,000 เมกะวัตต์ และจากโรงทั่วไปผลิต 80% อัตราส่วน 4 ต่อ 1 จะต้องติดตั้ง 4 เท่า การจะเอาไฟกลางวันมาใช้ในเวลากลางคืนก็ต้องติดแบตเตอรี่ที่ปัจจุบันมีต้นทุนที่ยังจับต้องได้ยาก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาจากกระทรวงพลังงาน

2. Sink Co-Creation การเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7.0 ล้านตัน ในปีพ.ศ. 2588 หากคิดรวมการดำเนินการทั้งหมดจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งหมด 24 ล้านตันในอนาคต

3. Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 กว่า 22 ผลิตภัณฑ์ การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ