“ส่งออกปี66”ซบตลาดใหม่"จีน"ฟื้น แต่สุดต้านการถดถอยสหรัฐ-ยุโรป

“ส่งออกปี66”ซบตลาดใหม่"จีน"ฟื้น    แต่สุดต้านการถดถอยสหรัฐ-ยุโรป

เศรษฐกิจโลกที่กำลังปั่นป่วนอย่างหนักจากตลาดทุนและตลาดเงิน รวมถึงปัญหาที่ยังแก้ไขไม่จบอย่างเงินเฟ้อและดอกเบี้ยแข่งกันสูงกำลังทำให้การค้าโลกไม่ต่างอะไรกับทะเลเดือดที่การแข่งขันสูงขึ้นขณะที่กำลังซื้อลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ

 “ประเทศไทย”ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลักถึง 70% จะอยู่เฉยไม่ได้แล้วในสถานการณ์นี้   

หลุยส์ ครุส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้ง เปิดเผยถึงรายงาน “เอเชียแปซิฟิก : อานิสงค์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน” หรือ Asia-Pacific: China Rebound Supports Growth ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะได้รับอานิสงค์จากเศรษฐกิจจีนที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม สัญญาณดังกล่าวยังไม่ได้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในอีกหลายๆประเทศเนื่องจาก อานิสงค์ที่ว่านี้ยังไม่สามารถต้านทานหรือชดเชยกับสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอต้วในสหรัฐและยุโรปได้

 รายงานซึ่งเผยแพร่โดย S&P Global Ratings วานนี้(27 มี.ค. 2566) เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวและจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะมีผลต่อการบริโภคและภาคบริการ โดย S&P ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัว ที่ 5.5% ซึ่งสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อ พ.ย.2565 และสูงว่าในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน เมื่อ มี.ค. ที่คาดว่าจะขยายตัว ที่ 5% 

“จีนต้องการกำหนดเป้าหมายจีดีพีที่ไม่สูงจนเกินไป เพื่อให้มีช่องว่างสำหรับการดำเนินนโยบายที่จะตอบโต้ต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อหรือด้านการเงิน”

สำหรับสถานการณ์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งจะได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจจีนนั้นคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวที่ 3.8% จากปีที่ผ่านมาขยายตัวถึง 4.7%  โดยประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลง แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(ราคาสินค้าหักหมวดอาหารสดและพลังงานออก) จะยังทรงตัวสูงซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งยังคงแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า สหรัฐและประเทศในกลุ่มยุโรป จะมีเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ โดยคาดว่าจีดีพีสหรัฐจะขยายตัว 0.7% ขณะที่ยุโรปจะขยายตัวที่ 0.3% 

ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ก็ยังมีโอกาสที่จะเสียจังหวะได้ หากปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆก่อตัวขึ้นและสร้างปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์  หรือ ตลาดแรงงานที่อ่อนแอ

ดังนั้น ประเทศในเอเชียแปซิฟิกควรดำเนินโยบายทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆแต่ไม่ให้สะดุดเพื่อรับมือกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างเปราะบาง  โดยต้องบริหารจัดการเรื่องการหาประโยชน์จากการเปิดประเทศและผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น"

“ขอแนะนำการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าต้องคำนึงถึง 2 เรื่องสำคัญได้แก่ ตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายอาจได้รับความเสียหายอย่างดิ่งลึกและถาวร และสองคือ การยกระดับตลาดส่งออกโดยมองหาส่วนแบ่งตลาดในประเทศแถบอาเซียนมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคก็ยังคงอยู่หลอกหลอนต่อไป”

ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่า ปี 2566 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ คาดว่าจะลดลง 1.6%  ขณะที่จีดีพีไทยจะขยายตัวที่ 2.7-3.7% เงินเฟ้อขยายตัว 2.5-3.5% “ส่งออกปี66”ซบตลาดใหม่\"จีน\"ฟื้น    แต่สุดต้านการถดถอยสหรัฐ-ยุโรป

ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่า ปี 2566 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ คาดว่าจะลดลง 1.6%  ขณะที่จีดีพีไทยจะขยายตัวที่ 2.7-3.7% เงินเฟ้อขยายตัว 2.5-3.5%

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป นอกจากนี้ จะมีสถานการณ์เงินดอลลาร์ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและส่งผลให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น ส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี ในมุมมองของการนำเข้าอาจได้รับประโยชน์ จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า

ทั้งนี้จากรายได้หลักของไทย ที่มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยไทยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 75% สินค้าเกษตรส่งออกของไทย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าดั้งเดิม เช่น ข้าว มันสำปะหลัง แม้จะพัฒนาเป็นสินค้า เกษตรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น น้ำตาล ยางพารา กระทั่งเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แต่สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยใช้แรงงานเป็นหลัก ไม่ใช่พวกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงหรือสินค้าประเภทนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง

“เมื่อเป็นเช่นนี้ สินค้าส่งออกจากประเทศไทยจึงต้องสู้กับคู่แข่งด้วย “ราคา” ดังนั้น “ค่าเงินบาทอ่อน” และ“ค่าเงินบาทแข็ง” ย่อมส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในส่วนผู้ส่งออกสินค้าภาคเกษตรควรใช้กลไกเครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยง”

เศรษฐกิจประเทศไทย ผูกติดกับเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำความเข้าใจและหาทางหนีที่ไล่ที่เหมาะสมจะเป็นทั้งการลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสใหม่ให้กับการค้าของไทย ซึ่งปี 2566 เป็นอีกบทพิสูจน์ภาคส่งออกไทยที่แม้ต้องเผชิญความยากแต่ก็คุ้มเพราะยิ่งเดิมพันสูงผลตอบแทนก็สูงตามนั่นคือการได้มาซึ่งตลาดใหม่และโอกาสใหม่ๆในอนาคตนั่นเอง