เอกชนแนะ 5 นโยบายเร่งด่วน หวังรัฐบาลใหม่เปลี่ยนประเทศ

เอกชนแนะ 5 นโยบายเร่งด่วน หวังรัฐบาลใหม่เปลี่ยนประเทศ

หอการค้า' เสนอ 5 นโยบายเร่งด่วน ชี้ รัฐบาลใหม่ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ชาติ ขับเคลื่อน BCG Model ดันลงทุนอีอีซี พร้อมยกระดับดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าไทย ส.อ.ท.แนะดันนโยบายต่อทั้ง “บีซีจี-อีอีซี”

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 โดยแต่ละพรรคการเมืองได้ทยอยเปิดตัวผู้ที่จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเปิดตัวทีมเศรษฐกิจและผู้ที่จะลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงถือว่ามีความชัดเจนในกรอบเวลาที่จะนำไปสู่การได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งไม่ว่าพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาลชุดต่อไปคงต้องขับเคลื่อนในหลายประเด็นที่มีความสำคัญ ดังนี้

1.แผนงานและโครงการของเดิมที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศให้มีความต่อเนื่อง เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี , แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

2.แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย BCG Model 3.การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือแม้แต่แผนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ให้มีความต่อเนื่อง 

ขณะที่นโยบายเร่งด่วนที่เห็นในขณะนี้มองว่าทุกพรรคการเมืองไม่ว่าใครจะสามารถมาจัดตั้งรัฐบาลคงเห็นตรงกัน คือ 

1.การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยภาพรวม ซึ่งภาคเอกชนมองหลายเรื่องที่จะตอบโจทย์การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปไม่ว่าจะเป็น การตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ไม่ต่ำกว่า 5%ต่อปี, ยกระดับภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสู่เกษตรมูลค่าสูง (ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้-ตลาดนำ), การยกระดับภาครัฐสู่ Digital Government, การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ให้เอื้อต่อการค้า การลงทุน, การบริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงานซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของเอกชน

2.การยกระดับภาคการท่องเที่ยวที่ไม่เน้นแค่ปริมาณแต่ต้องให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมีการใช้จ่ายต่อหัวที่สูงและรักษาสิ่งแวดล้อม 

3.การยกระดับการศึกษาด้วย Digital และการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่ของประเทศที่ปัจจุบันยังคงขาดแคลนอยู่ 

4.การดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงนโยบายการส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับที่หอการค้าสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะจัด Road Show ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในประเทศจีนและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่และมี  กำลังซื้อสูง 

5.การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ เช่น ข้อตกลงไทย-EU , ไทย- แคนาดา, ไทย-ตุรกี, เพื่อช่วยขยายตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย 

“หลังจากเลือกตั้ง หอการค้าฯ อยากเห็นการฟอร์มทีมรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและราบรื่น เพื่อที่จะเข้ามาดูแลการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับแก้ไขและฟื้นฟูเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ซึ่งจะต้องเร่งทำทันทีเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว”นายสนั่น กล่าว

ส.อ.ท.แนะดัน“อีอีซี-บีซีจี”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทิศทางการเมืองไทยที่กำหนดวันเลือกตั้งและมีความชัดเจนทำให้ภาคเอกชนรวมทั้งประชาชนเองหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเป็นนโยบายเร่งด่วน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบและล้มหายตายจากไปเยอะมากตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 ไปจนถึงความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ต้นทุนค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันไม่ได้

ในขณะที่ภาคประชาชนเองก็มีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เกิดภาวะที่รายรับน้อยแต่รายจ่ายสูง ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็เป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกเองกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน

“ตอนนี้ภาคเอกชนและประชาชนรอคอยและมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง รวมทั้งให้ความสำคัญกับกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งยังเปราะบาง โดยเป็นการช่วยผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชน ไปพร้อมกับการแก้ปัญหา อย่างเช่นในกรณีที่มีสินค้าต้นทุนต่ำและราคาถูกกว่าจากต่างประเทศทะลักเข้ามาในไทย”

นอกจากนี้ ยังต้องมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตและส่งออกไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่แข่งขันได้ในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและอยู่ในไทยมานานตอนนี้เริ่มแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้แล้ว โจทย์ของรัฐบาลใหม่คือจะทำยังให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เกิดการปฏิรูป (transform) สู่อุตสาหกรรมใหม่อย่างเข้าใจในบริบทของโลก

ขณะเดียวกันจะต้องมีความสามารถในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างชาญฉลาดและจุดยืนของไทยท่ามกลางความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และโลกการแบ่งขั้วอำนาจ ซึ่งไทยมีคู่ค้าสำคัญจากทั้งสหรัฐและจีน รวมถึงการคว้าโอกาสในช่วงนี้ที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศจากเทรนด์การย้ายฐานผลิต ทั้งจากจีนและยุโรปบางส่วนเนื่องจากโรงงานประสบปัญหาวิกฤติด้านพลังงาน

นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจน ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งหนี้สาธารณะที่จะเป็นภาระใหญ่ที่ทุกคนได้รับผลกระทบ

สำหรับโครงการและนโยบายที่ดีซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าได้ทำไว้ยังควรดำเนินต่อไปให้ต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นโยบาย BCG การใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมใหม่เพื่อความยั่งยืน เหล่านี้ต้องทำต่อและทำให้สำเร็จ รวมไปถึง EEC ที่ยังค้างคาอยู่ให้รีบเร่งให้เสร็จครบวงจรให้เร็วที่สุด

“เอกชนมีความกังวลเรื่องการสานต่อนโยบายของรัฐบาลใหม่ หากเป็นกลุ่มการเมืองคนละขั้วซึ่งอาจทำให้ขาดความต่อเนื่องเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จึงหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะไม่คิดอย่างนั้นและนำนโยบายที่ดีสานต่อและนำมาปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น ต่อจิ๊กซอว์ให้เต็มภาพใหญ่เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศ”