‘จิ้งหรีด-ด้วง’ โกอินเตอร์ สหรัฐแห่ออเดอร์!

ชาวบ้านในพื้นที่บ้านวังไทร หมู่ที่ 2 ต.วังตระคร้อ อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย รวมตัวกันเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด และ ด้วงมะพร้าว ส่งออกไปขายยังประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถสร้างรายได้งดงามเป็นอาชีพเสริมจากการทำนาจนพอเพียงใช้จ่ายในครอบครัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านที่ร่วมเป็นสมาชิกของชุมชนกสิกรรมธรรมชาติบ้านวังไทร หมู่ที่ 2 ต.วังตระคร้อ อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ได้รวมตัวกันเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดแถมพ่วงด้วยการเลี้ยงด้วงมะพร้าวเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศสหรัฐอเมริกา จนสามารถสร้างรายได้อย่างงดงามพอเพียงใช้จ่ายในครอบครัวหลังว่างเว้นจากการทำนาเพราะในพื้นที่ทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้งของจังหวัดสุโขทัยไม่มีแหล่งน้ำพอที่จะทำนาปีละ 2 ครั้ง เมื่อมีการรวมตัวการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด และ ด้วงมะพร้าว เพื่อการส่งออกแถมสามารถทำรายได้อย่างพอเพียงจึงทำให้ชาวบ้านยิ้มกว้างมากขึ้นมีเงินจับจ่ายใช้สอยในครอบครัวเป็นอย่างดี

นอกจากนั้นแล้วการสามัคคีรวมตัวดังกล่าวสามารถทำให้ผู้นำกลุ่มสามารถนำพากลุ่มชุมชนกสิกรรมธรรมขาติบ้านวังไทร จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกสิกรรมธรรมชาติบ้านวังไทร ทำให้ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐในหลายหน่วยงานทั้ง สนง.พัฒนาชุมชน , สนง.เกษตรจังหวัด , สนง.ปศุสัตว์ , สนง.สปก รวมทั้งภาคเอกชนบางส่วนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จนทำให้ผลผลิตมีมาตรฐานการส่งออกและมีตลาดรองรับอย่างการส่งออกไปขายยังประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นายอนุสรณ์ มีบุญ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 และ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกสิกรรมธรรมชาติบ้านวังไทร เปิดเผยว่า อ.บ้านด่านลานหอยเป็นอำเภอที่ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปีทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่จะทำการปลูกมันสำปะหลังเพราะใช้น้ำน้อย ตนเองจึงมีแนวคิดที่สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยการรวมกลุ่มกันทั้งหมู่บ้านในการทำการเกษตรจนล่าสุดได้ให้ความรู้ในการเลี้ยงด้วงมะพร้าวก่อนหน้านี้ จากนั้นก็ศึกษาการเลี้ยงจิ้งหรีดจนรวมตัวกันทำการเพาะเลี้ยงในการเริ่มต้นมี 15 ครอบครัว อีกทั้งมีช่องทางการส่งออกไปขายยังประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักเป็นที่ต้องการสูงเพราะจิ้งหรีดมีโปรตีนที่สูงสำหรับการบริโภค

ผู้ใหญ่อนุสรณ์กล่าวต่อไปว่า ผลผลิตจิ้งหรีดของเราในแต่ละรอบการผลิต 45 วัน ของหมู่บ้านเราจะได้ผลผลิต 500 - 600 กิโลกรัม ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการการส่งออกในแต่ละรอบ เราจึงหาพันธมิตรในการผลิตได้จากทางภาคอีสานอาทิ ที่ จ.บุรีรัมย์ และ ทางภาคใต้ที่ จ.ชุมพร จนทำให้มีผลผลิตพอต่อการส่งออก ซึ่งในแต่ละรอบการผลิต 45 วัน เราจะทำการส่งออกอยู่ที่ 1 ถึง 3 ตัน

"ด้านรายได้ของสมาชิกหรือชาวบ้านที่ร่วมเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นต่อรอบการผลิต 45 วัน จะมีรายได้ประมาณ 10,000 - 12,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าจะมีผลผลิตมากน้อยเพียงใด ขณะที่ต้นทุนการเพาะเลี้ยงก็ถูกเพียง 1 กล่องเพาะเลี้ยงจะตกเพียงกล่องละ 400 - 500 บาท เมื่อได้ผลผลิตจะมีกำไรกล่องละ 1,500 บาท โดยปัจจุบันชาวบ้านร่วมกลุ่มกันเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดกันรวม 30 ครอบครัวสามารถมีรายได้เสริมจากอาชีพประจำทำให้ยิ้มกว้างมีรายได้พอเพียงใช้จ่ายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี"

ทั้งนี้ล่าสุดจังหวัดสุโขทัยได้ขึ้นทะเบียนการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดและด้วงมะพร้าว (หรือ ด้วงสาคู) เป็นสัตว์เศรษฐกิจของจังหวัดแล้ว