‘เอกชน’หวั่นสุญญากาศ ขอให้ตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็ว

‘เอกชน’หวั่นสุญญากาศ  ขอให้ตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็ว

“หอการค้า” ขอให้มีรัฐบาลใหม่เร็ว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทันสถานการณ์ สานต่อนโยบาย เตรียมจัดดีเบตเศรษฐกิจ 10 พรรค 30 มี.ค.นี้ ส.อ.ท.ชี้ต้องไม่เน้นประชานิยม ‘เทคคอมพานีไทย’ มองบวกเพิ่มควมเชื่อมั่นประเทศ

Key Points

  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยุบสภา และอาจมีการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.2566
  • ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ที่ต้องการให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ
  • หอการค้าไทยต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็ว เพื่อป้องกันภาวะสุญญากาศ
  • ส.อ.ท.เสนอให้รัฐบาลใหม่ไม่ควรเน้นประชานิยม และมีนโยบายป้องกันคอรัปชั่น

สถานการณ์การเมืองได้เข้าสู่สนามเลือกตั้งหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุบสภาในวันที่ 20 มี.ค.2566 และคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 โดยรัฐบาลปัจจุบันจะรักษาการไปจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเมืองไทยชัดเจนขึ้นหลังมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และเมื่อคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งจะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าตามกรอบเวลาที่วางไว้ ซึ่งหลังการเลือกตั้งคาดว่าจะได้รัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง โดยภาคเอกชนหวังว่าเมื่อได้รัฐบาลใหม่แล้วจะเดินหน้าบริหารประเทศได้ทันที 

 

ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจทั้งโมเดลเศรษฐกิจหมุน BCG รวมถึงเดินหน้าเขตพัฒนาพเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต่อเนื่อง และยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นนโยบายต่อเนื่องที่ต้องสานต่อ 

ทั้งนี้วันที่ 30 มี.ค.2566 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับภาคเอกชนจัดเวทีดีเบตนโยบายพรรคการเมืองที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยเชิญพรรคการเมือง 10 พรรค มาร่วมแสดงความเห็น 10 ข้อด้านเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ขับเคลื่อน เช่น ดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น แรงงาน การดึงนักลงทุนต่างชาติ โดยหลังดีเบตเสร็จจะทำสมุดปกขาวมอบให้ 10 พรรค เพื่อเป็นข้อมูล

ภาคเอกชนหวังว่าเมื่อเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วก็จะตั้งรัฐบาลได้เร็ว ซึ่งภาคเอกชนเป็นห่วงเพราะหากได้รัฐบาลใหม่ช้าจะกระทบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถ้ามีรัฐบาลเร็วก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศ และตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที “นายสนั่น กล่าว

ส.อ.ท.ชี้ต้องไม่เน้นประชานิยม

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคเอกชน ซึ่งจะสร้างบรรยากาศไปในทิศทางบวกให้ทุกฝ่ายมีความหวัง และหันหน้ามาคุยกันเพื่อกำหนดนโยบายขับเคลื่อนประเทศใหม่ เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยนโยบายเร่งด่วนที่เอกชนคาดหวัง คือ การแก้ปัญหาปากท้องและการเร่งผลักดันจีดีพี ซึ่งปัจจุบันภาคการส่งออกชะลอตัวลงจึงต้องเร่งการหาตลาดใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้

“นโยบายต้องไม่เน้นประชานิยมซึ่งไม่ช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ระยะยาว รวมทั้งต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสและไม่มีคอร์รัปชั่น”

‘เทคคอมพานีไทย’ มองบวก

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจมีทิศทางสดใส และพลิกฟื้นดีขึ้นด้วย 2 ปัจจัย คือ โควิดเริ่มคลี่คลายและการประกาศวันเลือกตั้ง ซึ่งจะมีกระแสเงินสดหมุนเวียนเข้ามามากขึ้น โดยสิ่งสำคัญ คือ บริษัทใหม่หรือองค์กรระดับประเทศ ต้องสร้างความแข็งแรงเชิงเศรษฐกิจ ภาครัฐให้ความมั่นใจการบริหารประเทศ ส่วนเอสเอ็มอีจะได้อานิสงส์จากการความเข้มแข็งของทางการเมืองและท้ายสุดจะหนุนให้รากหญ้ามีกำลังซื้อ

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลจะส่งผลบวกทำให้เศรษฐกิจรวมถึงอุตสาหกรรมไอทีคึกคักขึ้น โดยปีนี้มีหลายปัจจัยบวก จากทั้งจีดีพีที่ 3.2% แนวโน้มเศรษฐกิจที่มีทิศทางดีขึ้น สถานการณ์โควิดคลี่คลาย การท่องเที่ยวฟื้นตัว ธุรกิจกลับมาทำงานตามปกติ รวมถึงมีการเลือกตั้ง

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยมีหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งการส่งออกชะลอ เงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งอาจกระทบกำลังซื้อและการใช้จ่าย แต่หวังว่าจะมีปัจบวกจากการท่องเที่ยวที่คึกคัก ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจ ประกอบกับการเลือกตั้งใหญ่จะส่งผลให้มีเงินสะพัด โดยเฉพาะในธุรกิจสิ่งพิมพ์และป้ายหาเสียง