สหรัฐส่อวิกฤติ 3 แบงก์ปิดกิจการ! เฟดเปิดแผนช่วยเหลือลูกค้า

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดเรียกประชุมฉุกเฉินในวันนี้ เพื่อทบทวนและกำหนดอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าและอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน แต่เป็นไปได้ว่า การปิดเอสวีบีเมื่อวันศุกร์ทำให้เฟดต้องเร่งประชุมด่วน

เฟด และบรรษัทรับประกันเงินฝากกลาง (เอฟดีไอซี) และผู้บริหารธนาคารกำลังหารือกันถึงเครื่องมือพิเศษชุดใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินและช่วยสกัดความตื่นตระหนก

เอสวีบีเป็นธนาคารใหญ่สุดที่ล้มนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2551 สร้างผลสะเทือนไปทั่วระบบธนาคาร เงินฝากหลายพันล้านดอลลาร์ที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจะเป็นอย่างไรต้องรอผลการประชุมในวันจันทร์นี้

ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินแคลิฟอร์เนีย มีคำสั่งปิด เอสวีบี และได้แต่งตั้งบรรษัทค้ำประกันเงินฝากกลาง (เอฟดีไอซี) เป็นผู้รับโอนสินทรัพย์

โดยเอฟดีไอซี ระบุว่า ผู้ฝากเงินที่ได้รับการค้ำประกันทุกคนจะเข้าถึงเงินฝากที่ค้ำประกันได้ทั้งหมดไม่เกินเช้าวันจันทร์นี้ แต่ 89% ของเงินฝาก 1.75 แสนล้านดอลลาร์ไม่ได้รับการค้ำประกันเมื่อสิ้นปี 2565 และยังไม่ทราบชะตากรรม

เกร็ก เบคเกอร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ เอสวีบี ไฟแนนเชียล ส่งสารผ่านวีดิโอไปยังพนักงาน 48 ชั่วโมงก่อนแบงก์ล้ม โดยยอมรับว่า “เป็นความยากลำบากอย่างไม่น่าเชื่อ”

ปัญหาที่เกิดกับเอสวีบีเน้นย้ำถึงการที่เฟดและธนาคารกลางชาติอื่นๆ ต่อสู้เงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สร้างความเสี่ยงในตลาด ความกังวลกำลังเล่นงานภาคธนาคารอย่างมาก
จากการคำนวณของรอยเตอร์ ช่วงสองวันนับถึงวันศุกร์ มูลค่าตลาดของธนาคารสหรัฐหายไปกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และธนาคารยุโรปหายไปราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดการณ์ว่า ความเสียหายในภาคธนาคารจะมีมาอีก เมื่อความกังวลเรื่องความเสี่ยงที่ซุกซ่อนอยู่ในภาคธนาคารและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกระจายไปทั่ว

รอยเตอร์สรุปว่า ปฐมบทเอสวีบีล่มอยู่ที่บรรยากาศการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นเหตุให้การนำหุ้นออกขายต่อสาธารณะครั้งแรก หรือไอพีโอของสตาร์ทอัพหลายแห่งต้องหมดไป การระดมทุนนอกตลาดแพงขึ้น ลูกค้าเอสวีบีบางรายเริ่มถอนเงินออก และเพื่อหาเงินมาให้ลูกค้าเอสวีบีต้องขายตราสารหนี้ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรกระทรวงการคลัง และธนาคารจะขายหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพ 2.25 พันล้านดอลลาร์เพื่อมาปิดช่องโหว่เงินทุนที่หายไป แต่เมื่อราคาหุ้นดิ่งเอาไม่อยู่ การระดมทุนจึงเป็นไปไม่ได้ โดยเอสวีบีพยายามมองหาทางเลือกอื่น เช่น ขายกิจการ จนกระทั่งคณะกรรมการกำกับดูแลเข้ามาจัดการปิดธนาคาร

สองวันก่อนเกิดเหตุกับเอสวีบี ซิลเวอร์เกต แคปิตอล ผู้ปล่อยสินเชื่อรายสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ประกาศว่าบริษัทจะยุติการดำเนินงานและขายสินทรัพย์ของธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank) เพื่อชำระหนี้ 

ซิลเวอร์เกต แบงก์ถือเป็น 1 ใน 2 ธนาคารหลักสำหรับบริษัทคริปโทฯ ร่วมกับซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งอยู่ในนิวยอร์ก  มีสินทรัพย์ประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับซิกเนเจอร์ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1.14 แสนล้านดอลลาร์ 

โดยซิลเวอร์เกตเชื่อว่าการระงับการดำเนินงาน และทำการชำระหนี้ถือเป็นหนทางที่ดีที่สุด พร้อมระบุว่าเงินฝากทั้งหมดจะถูกชำระคืนแบบเต็มจำนวนให้กับลูกค้า

 

ไปอีกราย! ทางการสหรัฐสั่งปิด Signature Bank ป้องวิกฤติการเงินลาม ล่าสุด ‘เฟด’ ประกาศแผนช่วยเหลือแล้ว

.

ปัญหาภาคการเงินในสหรัฐดูเหมือนจะเริ่มบานปลายออกไปมากขึ้น ล่าสุดหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐได้สั่งปิดธนาคารเพิ่มอีกแห่ง คือ Signature Bank ที่อยู่ในนิวยอร์ก โดย Signature Bank เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งคำสั่งปิด Signature Bank ในครั้งนี้เพื่อป้องกันวิกฤติการเงินในภาคธนาคารไม่ให้ลุกลามออกไป

.

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ได้ประกาศว่าจะจัดตั้งโครงการเงินกู้ ‘Bank Term Funding Program เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินต่างๆ ที่อาจโดนผลกระทบจากการปิดกิจการของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์(SVB)

.

ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐ ย้ำว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ SVB และ Signature Bank ที่เพิ่งถูกสั่งปิดไปล่าสุด จะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตัวเองได้เต็มจำนวน โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันนี้ (13 มี.ค.) เป็นต้นไป

.

ทั้งนี้ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด และ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ และ มาร์ติน กรุนเบิร์ก ประธานบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ(FDIC) ออกแถลงการณ์ร่วมกันในเช้าวันนี้(13มี.ค.) ตามเวลาประเทศไทย ระบุว่า ทางการได้ตัดสินใจใช้นโยบายที่เด็ดขาดเพื่อป้องกันเศรษฐกิจของสหรัฐ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบธนาคาร

.

สำหรับโครงการ Bank Term Funding Program จะมีการเสนอเงินกู้อายุ 1 ปี ให้กับธนาคารพาณิชย์ สถาบันรับฝากเงิน เครดิตยูเนี่ยน และสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ โดยที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่จะกู้เงินจากโครงการนี้ได้ จะถูกขอให้ยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน(MBS)

.

ขณะที่ เฟด ระบุในแถลงการณ์ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับระบบธนาคารในการป้องกันเงินฝาก และสร้างความเชื่อมั่นว่าจะจัดหาเงินสดและสินเชื่อให้ระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

.

นอกจากนี้ เฟด ยังย้ำด้วยว่า พร้อมจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องในระบบหากพบว่าปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น