‘คมนาคม’ แตะเบรกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘อธิรัฐ’ ห่วงตอบคำถามสังคมไม่ได้

‘คมนาคม’ แตะเบรกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘อธิรัฐ’ ห่วงตอบคำถามสังคมไม่ได้

“อธิรัฐ” สั่งชะลอลงนามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จี้ผู้ว่า รฟม.ชี้แจงข้อกฎหมาย ปมข้อพิพาท 3 คดียังอยู่ในขั้นตอนศาลพิจารณา ย้ำคดีไม่เคลียร์ไปต่อไม่ได้ พร้อมเรียกทุกหน่วยงานอัพเดตโครงการค้างท่อ เร่งเสนอ ครม.ภายใน ส.ค.นี้

Key Points

  • 'อธิรัฐ รัตนเศรษฐ' เริ่มปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว
  • ได้มีการเรียกตรวจสอบโครงการที่กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอ ครม.
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หากเคลียร์ข้อกฎหมายไม่ได้จะไม่เสนอ ครม.
  • รฟม.แสดงกังวลการประมูลที่ล่าช้ามา 3 ปี จะทำให้เสียโอกาสของประชาชน

หลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีการถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งมีภารกิจหลายส่วนที่นายศักดิ์สยามเตรียมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในช่วงปลายรัฐบาล

คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

นายอธิรัฐ เปิดเผยว่า ได้เรียกหัวหน้าหน่วยในสังกัดกระทรวงคมนาคมมาชี้แจงความคืบหน้าทุกโครงการที่ยังล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน เพื่อเร่งรัดให้เสนอ ครม.ทันในวาระรัฐบาลชุดปัจจุบันที่คาดว่าจะปฏิบัติหน้าที่ถึงเดือน ส.ค.2566

ส่วนความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ขณะนี้ได้เรียกนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาชี้แจงรายละเอียดโครงการ 

ทั้งนี้ เน้นย้ำว่าต้องเดินหน้าตามกระบวนการทางกฎหมาย ปัจจุบันข้อพิพาทมีการตัดสินไปเพียง 1 คดี ยังคงเหลืออีก 3 คดีที่อยู่ระหว่างพิจารณา ดังนั้นจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดว่าข้อพิพาทที่ยังเหลืออยู่นั้น มีความเกี่ยวข้องหรือจะมีผลอย่างไร

“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถ้าประเด็นยังไม่เคลียร์ก็คงไปต่อไม่ได้ เพราะมีคดีที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา ดังนั้นเรื่องนี้ขอใช้เวลาพิจารณารายละเอียดทั้งหมด เพราะขณะนี้แม้ รฟม.จะชี้แจงข้อมูลแล้วแต่ยังไม่เคลียร์ว่าอีก 3 คดีที่เหลือต้องรอศาลพิจารณาก่อนหรือไม่” 

ส่วนกรณีที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเสนอทันภายในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ขณะนี้ตอบไม่ได้เพราะต้องพิจารณาทุกเรื่องให้เป็นไปตามกฎหมายก่อน แต่หากทุกเรื่องชี้แจงได้และมีคำตอบสู่สังคมก็พร้อมที่จะเดินต่อได้ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องดูหลายองค์ประกอบด้วย ไม่ใช่เพียงนโยบายหรือการตัดสินใจจากทางกระทรวงฯ เพราะหากบางประเด็นยังตอบสังคมไม่ได้ ก็จะต้องรอกระบวนการยุติธรรม รอกระบวนการศาลเป็นผู้พิจารณาด้วย

รฟม.สรุปความคืบหน้าคดี

รายงานข่าวจาก รฟม.ระบุว่า รฟม.สรุปประเด็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีความคืบหน้า แบ่งออกเป็น การคัดเลือกเอกชนครั้งแรก ประกอบด้วย 3 คดี คือ 

1.คดีศาลปกครองสูงสุด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องการแก้ RFP ไม่ชอบ และละเมิด BTSC (หมายเลขคดีแดงที่ อ.168/2566) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง เพราะ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ RFP โดยชอบแล้ว สถานะคดีจึงถึงที่สุดแล้ว

2.คดีศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ไม่ชอบ (หมายเลขคดีดำที่ อ.1455/2565)ความคืบหน้าล่าสุด ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยขณะนี้รอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

3.คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง BTSC ฟ้องการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต (หมายเลขแดงที่ อท.133/2565) ความคืบหน้าล่าสุด ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง 

ส่วนการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ประกอบด้วย 2 คดี คือ 

1.คดีศาลปกครองกลาง BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC (หมายเลขดำที่ 1646/2565) สถานะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

2.คดีศาลปกครองกลาง นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล ฟ้องการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ไม่ชอบความคืบหน้าล่าสุด ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

รฟม.เดินหน้าดันสายสีส้ม

รฟม.ออกรายงานชี้แจงเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2566 ว่า ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกฟ้องประเด็น รฟม.เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 โดยยืนยันการคัดเลือกเอกชนฯ ที่ผ่านมา รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทำตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เรื่อยมา

ขณะนี้ศาลปกครองและศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาหลายคดีถึงที่สุดแล้วว่า รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้คัดเลือกเอกชนโดยชอบแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมาการฟ้องร้องเป็นคดีความส่งผลให้โครงการมีความล่าช้ากว่า 2 ปีแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อศาลปกคลองกลาง โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางเห็นว่าการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ได้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน และประกาศเชิญชวนฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ รวมทั้งเปิดกว้างให้เอกชนร่วมคัดเลือกมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง BTSC ยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่น

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าและการเสียโอกาสของประชาชนในการใช้ประโยชน์ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในการดูแลโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่จะแล้วเสร็จ รฟม.จึงเห็นสมควรเร่งรัดและผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตามขั้นตอนเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

‘อธิรัฐ’ สั่งทบทวนทุกโครงการ

นายอธิรัฐ กล่าวว่า สำหรับทุกโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคมที่ค้างอยู่ หรือเตรียมเสนอ ครม.ได้สั่งการให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานความคืบหน้า เพื่อทบทวนทุกโครงการที่จำเป็นเร่งด่วน หากไม่ขัดกฎหมาย แม้จะอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็มีอำนาจในการเสนอ ครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการได้

“ช่วงเลือกตั้ง ยอมรับว่าหนักใจ แต่ถ้าอะไรที่ทำแล้ว ทำให้สังคมรู้สึกสบายใจ และทำให้ผู้ที่เสียภาษีหลายคนที่สงสัยเรื่องนี้มีความกระจ่างขึ้น ก็ยินดีทำให้ถูกต้อง และมีคำตอบให้มากที่สุด”

ส่วนกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบการทำงานของข้าราชการและที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้นยืนยันว่าจะดำเนินการตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะพิจารณาเอกสารก่อนและตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ได้ข้อสรุปใน 15 วัน

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ยื่นหนังสือถึงนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมของข้าราชการระดับสูงในสังกัดกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 โดยมีข้อร้องเรียน 4 ข้อ คือ

1.ยับยั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามที่เคยได้ให้ข้อมูลไปก่อนหน้านี้ 

2.ตรวจสอบ หจก.บริษัทบุรีเจริญฯ ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ใช้บริษัทบุรีรัมย์พนาสิทธิ์ ซึ่งอยู่ในเครือและอาจฮั้วประมูลโครงการรถไฟ 2 เส้นทาง 

3.ดำเนินคดีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เรื่องการออกโฉนดที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นที่ดิน รฟท.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

4.ตรวจสอบนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตตนเอง