ปิดฉากประมูลปิโตรเลียมรอบ 24 ‘ปตท.สผ.-เชฟรอน’ ลุยสำรวจอ่าวไทย

ปิดฉากประมูลปิโตรเลียมรอบ 24 ‘ปตท.สผ.-เชฟรอน’ ลุยสำรวจอ่าวไทย

ปิดฉากประมูลปิโตรเลียมรอบที่ 24 ครม. เคาะ ‘ปตท.ผส.’ คว้าสิทธิประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย ส่วน ‘เชฟรอน’ คว้าสำรวจ 1 แปลง

Key Points

  • การประมูลปิโตรเลียมรอบที่ 24 ที่ยืดเยื้อมานานได้รับการอนุมัติจาก ครม.
  • การประมูลครั้งนี้มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 บริษัท โดย ปตท.สผ.ได้สิทธิสำรวจ 2 แปลง
  • ปตท.สผ.ได้สิทธิสำรวจ 2 แหล่ง ในบริเวณที่ติดกับแหล่งบงกช-เอราวัณ
  • เชฟรอนที่พลาดประมูลต่อสัมปทานแหล่งเอราวัณ ครั้งนี้ประมูลได้ 1 แปลง

กระทรวงพลังงานได้เปิดประมูลสิทธิแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบที่ 24 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประมูลในวันที่ 7 มี.ค.2566 เป็นที่เรียบร้อย

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ครม.อนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24

โดย ปตท.สผ. อีดี เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 2 แปลง คือ แปลงหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515 ตารางกิโลเมตร

ส่วน เชฟรอน ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร

สำหรับการสำรวจปิโตรเลียมครั้งนี้จะทำให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงสำรวจ 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท

รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงิน 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไร

ประมูลปิโตรเลียม ทั้งนี้ พื้นที่แปลงสำรวจที่ประมูลครั้งนี้ติดกับแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพของประเทศ

นอกจากนี้ ในการประมูลมีบริษัทยื่นขอสำรวจ 4 ราย จาก 6 บริษัทที่สนใจเข้าขอรับเอกสาร โดยกรมเชื้อเพลิงฯ ได้พิจารณาคำขอสิทธิสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ทั้งจากคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ 

"เรามีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เกิดการสร้างงาน การสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท"

นอกจากนี้ ยังได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย

นายรณรงค์ ชาญเลขา กรรมการ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า บริษัท ยินดีที่ได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐให้เป็นผู้รับสัญญาของแหล่ง G2/65 ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการส่งมอบพลังงานที่สะอาดขึ้น เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาวต่อไป ดังที่ได้ดำเนินงานมากว่า 6 ทศวรรษ

“ด้วยการผสานความรู้ความเชี่ยวชาญในธรณีวิทยาของอ่าวไทย เข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแนวทางปฏิบัติงานที่เป็นเลิศจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เชฟรอนเชื่อมั่นว่าเราสามารถพัฒนาปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งขับเคลื่อนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)” นายรณรงค์ กล่าว