ปิดดีล 3 แปลงสำรวจปิโตรเลียมอ่าวไทย ชง “สุพัฒนพงษ์” เคาะผู้ชนะประมูล

ปิดดีล 3 แปลงสำรวจปิโตรเลียมอ่าวไทย ชง “สุพัฒนพงษ์” เคาะผู้ชนะประมูล

"กรมเชื้อเพลิงธรรรมชาติ" เผย การประมูลแปลงสำรวจปิโตรเลียมอ่าวไทยรอบ 24 จำนวน 3 แปลง ได้ข้อสรุปแล้ว ขณะนี้รอเสนอ “สุพัฒนพงษ์” ประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลอย่างเป็นทางการภายในเดือน ก.พ. 66 นี้

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการที่กรมเชื้อเพลิงฯ ได้ออกประกาศพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยสำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 จำนวน 3 แปลง รวมพื้นที่ทั้งหมด 34,873 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย แปลง G1/63 ซึ่งอยู่ด้านบนสุด มีขนาดพื้นที่ 8,197 ตารางกิโลเมตร แปลงG2/63 ซึ่งอยู่ตรงกลาง มีขนาดพื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร และแปลงG3/63 ที่อยู่ล่างสุด มีขนาดพื้นที่ 11,646 ตารางกิโลเมตร

ซึ่งการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวน 3 แปลงดังกล่าว จะดำเนินการภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ และ บงกช ภายหลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี2565-2566 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการปิโตรเลียมที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ถือเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับแนวท่อก๊าซที่มีอยู่เดิมและอยู่ใกล้กับพื้นที่ผลิตหลักที่ปัจจุบันมีการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้ได้ผู้ชนะการประมูลเป็นผู้เรียบร้อยแล้ว โดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้เข้าร่วมประมูลจำนวน 2 แปลง

“ตอนนี้ทราบผลผู้ชนะประมูลเรียบร้อยแล้ว รอเสนอรายชื่อผู้ชนะการประมูลต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นชอบ ที่รู้ ๆ มี ปตท.สผ.เข้าประมูล 2 แหล่ง คาดว่าภายในเดือนนี้จะชี้แจงต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง”

สำหรับการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวน 3 แปลงบริเวณในอ่าวไทยรอบที่ 24 นี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ไม่ได้มีการเปิดให้สำรวจนับตั้งแต่ปี2550 หรือราว 16 ปีมาแล้ว โดยกรมฯ คาดหวังว่าพื้นที่แปลงสำรวจและผลิตดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ปัจจุบันจะเริ่มมีปริมาณน้อยลงไปเรื่อย ๆ ให้เพิ่มขึ้นมาได้ เพื่อที่จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ ส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการจ้างงานภายในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐ และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาท หากสำรวจพบปิโตรเลียม และทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง เพราะราคาพลังงานนำเข้าจะสูงกว่ามาก

“การยื่นขอสิทธิฯ ในครั้งนี้ ตามขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเปิดเผย และโปร่งใส โดยยึดมั่นในผลประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก เพื่อเป็นการนำทรัพยากรของประเทศ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คนไทยได้มีปิโตรเลียมจากแหล่งพลังงานในประเทศใช้อย่างต่อเนื่อง และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน”