ส่งออกไทยมูลค่าต่ำสุดรอบ 23 เดือน “พาณิชย์”หวั่นไตรมาส 1-2 ติดลบ

ส่งออกไทยมูลค่าต่ำสุดรอบ 23 เดือน “พาณิชย์”หวั่นไตรมาส 1-2 ติดลบ

"พาณิชย์" เผยส่งออก ม.ค.ติดลบ 4.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มูลค่าน้อยที่สุดในรอบ 23เดือน คาดครึ่งปีแรกติดลบ หวังครึ่งปีหลังฟื้นตัว คงเป้าทั้งปีโต 1-2% ด้านยอดนำเข้าพุ่ง 2.48 ล้านดอลลาร์ จากราคาน้ำมัน ทำขาดดุลการค้า 4 พันกว่าล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 10 ปี

Key Points

  • การส่งออกของไทยเดือน ม.ค.2566 ติดลบ 4.5% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค.2566 ต่ำที่สุดในรอบ 23 เดือน
  • ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อและดีมานด์ตลาดโลกลดลง

การส่งออกในเดือน ม.ค.2566 มีมูลค่า 20,249ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.5% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับแต่เดือน ต.ค.2565 และเมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ติดลบ 3.0% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 24,899 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.5 % ทำไทยขาดดุลการค้า 4,649 ล้านดอลลาร์

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออก เดือน ม.ค.ติดลบ 4.5% มาจากอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศคู่ค้าอยู่ระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อและการผลิตโลกหดตัว ทำให้มีการนำเข้าลดลง 

อย่างไรก็ตามการส่งออกไทยเดือน ม.ค.2566 หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า และยังอยู่ระดับที่ดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย โดยตลาดส่งออกไทยหลายตลาดกลับมาขยายตัว ได้แก่ สหภาพยุโรป ลาตินอเมริกา อินเดีย แอฟริกา และอาเซียน (5 ประเทศ) ท่ามกลางผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของค่าเงินบาท

การส่งออกที่ลดลงมาจากการลดลงของสินค้าเกษตร 2.2% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง3.3% และสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 5.7% 

ส่งออกไทยมูลค่าต่ำสุดรอบ 23 เดือน “พาณิชย์”หวั่นไตรมาส 1-2 ติดลบ

ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะลดลงแต่สินค้าสำคัญหลายตัวยังส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ข้าว เพิ่ม 72.3% ไขมันจากพืชและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่มขึ้น 124% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่มขึ้น 50% ผลไม้สด เพิ่มขึ้น 2.5% โดยทุเรียนสด เพิ่มขึ้น 53.3% มะม่วงสด เพิ่มขึ้น21.9% มังคุดสุด เพิ่มขึ้น 821% 

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลดลง 7.6% ยางพารา ลดลง 37.6% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลดลง4.8% น้ำตาลทราย ลดลง 2.3% ไก่แปรรูป ลดลง2.2% อาหารสัตว์เลี้ยง ลดลง 11%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 9.2% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เพิ่มขึ้น72.3% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น16.4% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น44.9%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญภาพรวมยังคงลดลง โดยตลาดหลักลดลง 5.3% เช่น ตลาดสหรัฐ ลดลง 4.7% จีน ลดลง 11.4% ญี่ปุ่น ลดลง9.2% CLMV ลดลง 11.1% และตลาดอาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 2.3% สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 2.2% 

ตลาดรอง ลดลง 3.1% เช่น เอเชียใต้ ลดลง 4.3% ทวีปออสเตรเลีย ลดลง 7.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS ลดลง 46.4% แต่ตลาดตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น23.7% ทวีปแอฟริกา เพิ่มขึ้น 14.7% ลาตินอเมริกา เพิ่มขึ้น 1.5%

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกเดือน ม.ค.2566 ที่มีมูลค่า 20,249 ล้านดอลลาร์เป็นมูลค่าที่น้อยที่สุดในรอบ 23 เดือน ขณะที่การขยายตัวติดลบ 4.5% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับจากเดือนต.ค.2565 ที่ติดลบ 4.4% เดือนพ.ย.2565 ติดลบ 6% และเดือน ธ.ค.2565 ติดลบ 14.6% ส่วนการนำเข้าที่สูงขึ้น ทำให้ยอดขาดดุลการค้ามีมูลค่า 4,649.6 ล้านดอลลาร์ เป็นยอดขาดดุลที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้หารือภาคเอกชนหลายกลุ่มสินค้าประเมินตรงกันว่าการส่งออกครึ่งปีแรก 2566 จะชะลอตัว และลดลงเนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการนำเข้า 

ขณะที่การส่งออกครึ่งปีหลังจะพลิกกลับมาขยายตัวดีขึ้น และมั่นใจว่าเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ที่ 1-2% จะยังคงใช้เป็นเป้าในการทำงาน โดยจะเพิ่มกิจกรรมบุกเจาะตลาดที่มีโอกาสมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV จีน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การนำเข้าเดือน ม.ค.2566 มีมูลค่า 24,899 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.5% โดยปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น มาจากการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้น โดยมีมูลค่า 5,262 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 84% หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของมูลค่าการนำเข้ารวม และมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.2565 ที่ราคาน้ำมันเฉลี่ย 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นเฉลี่ย 80.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือน ม.ค.2566 

นอกจากนี้ เดือน ม.ค.2566 มีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น โดยมูลค่านำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ซึ่งคาดว่าจากการนำเข้าทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมากนี้ จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในระยะถัดไป เนื่องจากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มทุนและวัตถุดิบ จะนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและส่งออกยังต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกติดลบมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวตั้งแต่เดือน ก.ย.2565 ทำให้การส่งออกตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ถึงเดือน ม.ค.2566 ชะลอตัวและคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 1 แต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น โดยดูจากดัชนีภาคการผลิต (PMI) ในสหรัฐและจีนที่เริ่มคงที่ โดยเฉพาะจีนที่เริ่มฟื้นตัวและจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย 

นอกจากนี้ในต้นปี 2565 ช่วงเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลายประเทศเกิดความกังวลด้านอาหาร ทำให้มีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก อีกทั้งปัญหาชิปขาดแคลนทำให้มีการเร่งการนำเข้า 

ทั้งนี้เมื่อดูสถิติการส่งออกครึ่งปีแรกปี 2565 มีมูลค่าสูงมากเฉลี่ย 28,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน แต่ครึ่งปีหลังการส่งออกชะลอตัวลงเฉลี่ย 22,900 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน จึงเกิดความไม่สมดุลและสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่มีความผันวนจึงคาดว่าไตรมาส 1  ปีนี้ การส่งออกไทยอาจติดลบ 5-10 % จากฐานปีที่แล้วสูง 

“ไตรมาส 2 ยังมีปัจจัยที่ไม่รู้อีกเยอะมากทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ จีน ยุโรป สงครามจะยืดเยื้อหรือไม่ ค่าเงินบาท แต่เชื่อว่าจะดีกว่าไตรมาส 1 แต่ก็ยังคงติดลบอยู่ และคาดว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้น โดยตอนนี้ปัญหาเรื่องการขนส่ง ค่าระรางเรือ ไม่มีแล้ว ตู้มีเพียงพอ ค่าระวางกลับสู่ระดับปกติ และต่ำกว่าก่อนโควิดก็มี ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นแรงหนุนสร้างแต้มต่อการส่งออกของไทย"