6 ปี 'ประยุทธ์' เทงบฯบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวม 3.3 แสนล้าน อุ้ม 'คนจน' 14 ล้านคน

6 ปี 'ประยุทธ์' เทงบฯบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวม 3.3 แสนล้าน อุ้ม 'คนจน' 14 ล้านคน

ครม.เคาะงบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ 6.5 หมื่นล้าน ผู้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านคน เผย 6 ปี จัดสรรงบประมาณรวมกว่า 3.3 แสนล้านบาท ปรับเงื่อนไขใหม่ให้วงเงินซื้อสินค้า 300 บาทเท่ากันทุกราย พร้อมอนุมัติปรับแนวเขตแดนใช้ที่ดินใหม่ 11 จังหวัด รวม 41 ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่ทำกินเกษตรกร

Key Points

  • รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาตั้งแต่ปี 2561
  • ครม.อนุมัติโครงการรอบใหม่มีผู้ได้สิทธิรวม 14.59 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 21.01 ล้านคน
  • กระทรวงการคลังคาดว่าปี 2566 จะใช้งบประมาณสำหรับสวัสดิการรวม 65,413 ล้านบาท
  • เงื่อนไขผู้ถือบัตรรอบนี้จะได้รับเงินซื้อสินค้าเท่ากันทุกคนจากเดิมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถูกออกแบบมาเพื่อจัดสวัสดิการให้กลุ่มบุคคลที่ควรได้รับสนับสนุน หลังจากก่อนหน้านี้มีการให้สวัสดิการบางประเภทแบบหวานแห่ เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี 

ในระยะเริ่มต้นของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีแนวคิดที่รัฐจะจัดสวัสดิการให้พร้อมกับการพัฒนาตัวเองเพื่อให้พ้นจากความการเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง และรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดสวัสดิการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-2566 โดยแต่ละปีมีจำนวนผู้มีรายได้น้อยได้รับสวัสดิการตั้งแต่ปีละ 13-15 ล้านคน

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 ครอบคลุมผู้มีรายได้น้อย 14.59 ล้านราย จากจำนวนผู้ลงทะเบียนรอบนี้ 21.01 ล้านคน และผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 60 วัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องต้องดูแลประชาชน และที่สำคัญวันนี้มีการพิจารณาอนุมัติบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แล้วที่เป็นเฟสต่อไป โดยทำเป็นระยะๆซึ่งใช้เงินพอสมควร

“อย่างที่บอกไปแล้วเป็นเรื่องของการให้ความเป็นธรรมกับผู้มีรายได้น้อย มีกฎเกณฑ์ กติกาอยู่พอสมควร ใช้เงินอยู่หลายหมื่นล้านบาทแต่ละครั้งๆ ซึ่งต้องใช้เวลาพิสูจน์อะไรต่างๆที่จะใช้เวลาอีกซักพัก หลายคนอนุมัติไปแล้ว หลายคนมีปัญหายังไม่ได้ โดยจะเริ่มใช้วันที่ 1 เม.ย.นี้ ยืนยันว่าจะดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ถึงแม้จะเป็นช่วงปลายรัฐบาลก็ตาม ได้ขอร้องกันในพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคแล้วในทุกเรื่อง ขอความร่วมมือในช่วงท้ายของรัฐบาล”

ไม่กำหนดวันหมดอายุสวัสดิการ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังรายงานผลตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 และกรอบระยะเวลา พร้อมอนุมัติงบกลาง 9,140.35 ล้านบาท ให้กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม นำมาสมทบกองทุนในการจัดสรรประชารัฐสวัสดิการใหม่ เช่น วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคจากร้านธงฟ้าประชารัฐคนละ 300 บาท/เดือน (เดิมแบ่งให้ 2 กลุ่ม ไม่เท่ากัน) วงเงินค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะคนละ 750 บาท/เดือน

รวมทั้งโครงการปี 2565 วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจะได้รับเท่ากันทุกคน และเพิ่มครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะ 8 ประเภท เช่น ขสมก. , บขส. , รถไฟฟ้า , รถสองแถว , เรือโดยสาร และขยายสิทธิ์ให้เท่าเทียมกันทุกพื้นที่ รวมทั้งเฉลี่ยการใช้วงเงินได้กับทุกประเภท รวมทั้งกำหนดให้วงเงินค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้เป็นสวัสดิการหลักที่ไม่มีเวลาหมดอายุด้วย 

คาดใช้งบทั้งปี6.5หมื่นล้านบาท

กระทรวงการคลัง คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดสรรประชารัฐสวัสดิการใหม่ปีละ 65,413.8 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายประชารัฐสวัสดิการใหม่ให้กับผู้ถือบัตรที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการแล้ว

สำหรับรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนโครงการปี 2565 มีรายละเอียด คือ มีผู้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนโครงการปี 2565 ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 14.59 ล้านราย ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 5.05 ล้านราย เช่น ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เช่น มีรายได้เกิน 100,000 บาท/ปี มีบัญชีเงินฝากเกิน 100,000 บาท มีบัตรเครดิต มีวงเงินกู้บ้านหรือรถ

ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาโครงการปี 2565 ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติและเริ่มกระบวนการยืนยันตัวตน วันที่ 1 มี.ค.2566 เริ่มใช้สิทธิ์สวัสดิการสำหรับผู้ลงทะเบียนรอบปกติ 1 เม.ย.2566 กระบวนการอุทธรณ์ (กรณีผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ) วันที่ 1 มี.ค.-1 พ.ค.2566 และประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ 20 มิ.ย.2566 และใช้สิทธิ์สำหรับผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ 1 ก.ค.2566 โดยข้อเสนอประชารัฐสวัสดิการใหม่ที่จัดสรรให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีนี้ได้แก่

1.วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ คนละ 300 บาท/เดือน 2.วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มคนละ 80 บาท/3เดือน 

3.วงเงินค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะคนละ 750 บาท/เดือน 4.วงเงินค่าไฟฟ้า ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ครัวเรือนละ 315 บาท/เดือน และ 5.วงเงินค่าน้ำประปา ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ครัวเรือนละ 100 บาท/เดือน แต่ไม่เกิน 315 บาท/เดือน

ใช้งบฯ 6ปีรวม3.3แสนล้านบาท

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นโครงการที่รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้งบประมาณรวมมาจนถึงการอนุมัติครั้งล่าสุดรวม 6 ปีงบประมาณ รัฐบาลมีการใช้เงินในโครงการนี้ กว่า  333,229 ล้านบาท ดังนี้

1.ปีงบประมาณ 2561 จัดสรรงบประมาณ 43,614.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 14.2 ล้านคน 

2.ปีงบประมาณ 2562 จัดสรรงบประมาณ 93,155.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านคน 

3.ปีงบประมาณ 2563 จัดสรรงบประมาณ 47,843.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.9 ล้านคน

4.ปีงบประมาณ 2564 จัดสรรงบประมาณ 48,216.0 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.5 ล้านคน 

5.ปีงบประมาณ 2565 จัดสรรงบประมาณ 34,986.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.2 ล้านคน 

6.ปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณรวม 65,413.80 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านคน

เร่งแผนเพิ่มที่ดินให้เกษตรกร

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และ เลย (ยกเว้นกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี 

รวมทั้งให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการปรับปรุงแผนที่ One Map โดยใช้แผนที่ One Map ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วแทนแผนที่แนบท้ายกฎหมาย และใช้เป็นแนวเขตที่ดินของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เสร็จภายใน 360 วัน และมีแนวทางแก้ไขผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชนให้เป็นไปตามมติ ครม.วันที่ 22 พ.ย.2565 ที่ให้นำไปใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน และ ครม.รับทราบแนวทางการแก้ปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นกรณีเร่งด่วน

ลดข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐ

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับปรุงแผนที่ One Map เป็นการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินเพื่อให้มีแนวเขตที่ดินของรัฐถูกต้องและทันสมัยบนมาตรฐานแผนที่มาตราส่วน 1 : 4000 ภายใต้แนวคิด “หนึ่งพื้นที่ หนึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ” เพื่อแก้ขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน เพราะที่ผ่านมาการกำหนดเขตประเภทที่ดินรัฐทับซ้อนกัน

ทั้งนี้ไทยมีเนื้อที่ 320.7 ล้านไร่ แต่ข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่ามีที่ดินรัฐที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบรวมถึง 465.08 ล้านไร่ ซึ่งเกิดจากการมีกฎหมายกำหนดแนวเขตประเภทที่ดินของรัฐหลายฉบับและใช้มาตราส่วนแผนที่ต่างกันทำให้แนวเขตที่ดินทับซ้อน โดยโครงการนี้แบ่งพื้นที่เป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด

ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนที่ One Map ดังกล่าวแล้ว 2 กลุ่ม โดยพื้นที่กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ นนทบุรี กรุงเทพฯ นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี

พื้นที่กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี” น.ส.ทิพานัน กล่าว

แก้ปัญหาเกษตรกรรุกพื้นที่ป่า

สำหรับผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด โดยพบว่ามีพื้นที่ก่อนปรับปรุงแนวเขตที่ดินรัฐ 89.9 ล้านไร่ ภายหลังปรับปรุงแนวเขตมีพื้นที่ลดเหลือ 41.35 ล้านไร่ โดยมีแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบ เช่น

1.กรณีการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map แล้วปรากฏว่ามีที่ดินของหน่วยงานของรัฐที่จัดสรรให้ประชาชนตามกฎหมายนอกเขตพื้นที่ตามกฎหมาย หรือนอกเขตดำเนินการของหน่วยงานนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากประชาชนที่ได้รับจัดสรรที่ดินมีข้อโต้แย้งให้พิจารณาพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย และหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาประชาชน

2.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลนตามมติ ครม.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้แนวทางแก้ปัญหาตามมติ ครม.วันที่ 26 พ.ย.2561 โดยเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิมจริงให้อนุญาตตามกฎหมาย

3.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตที่ราชพัสดุและที่สาธารณประโยชน์ กรมธนารักษ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการจัดให้เช่า การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือแนวทางอื่นที่เหมาะสมตามกฎหมาย