ชาวสวนยางเฮ! ครม.เตรียมเคาะประกันรายได้ 7.6 พันล้าน

ชาวสวนยางเฮ! ครม.เตรียมเคาะประกันรายได้ 7.6 พันล้าน

ชาวสวนยางเฮ! ครม.เตรียมเคาะประกันรายได้ 7.6 พันล้าน ครอบคลุมพื้นที่ 1.8 ล้านไร่ หนุนสวนยาง เป้าหมายชาวสวนยาง 1.6 ล้านราย เผยตัวเลขประกันรายได้ยางตั้งแต่ปี 62 จ่อพุ่งแตะ 5 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรุ่งนี้  (28 ก.พ.) จะมีการพิจารณามาตรการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่4 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้งนี้มาตรการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะที่ 4 ได้ผ่าน การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) ที่ได้เห็นชอบนโยบายนี้แล้ววงเงินรวมกว่า 7.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ในการดำเนินการนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราผ่านนโยบาบประกันรายได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาได้ใช้วงเงินงบประมาณได้แล้วกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท

และเมื่อรวมกันงบประมาณที่ ครม.จะอนุมัติในครั้งนี้รวมจะใช้งบประมาณสำหรับประกันรายได้ยางพาราใน 4 ปีของรัฐบาลนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าตามที่เกษตรกรชาวสวนยางได้สอบถามถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่4 ว่า ในการประชุม ครม. 28 ก.พ. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมเสนอให้ ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ราคายางผันผวน

โดยมีเป้าหมายเกษตรกรชาวสวนยาง 1.6 ล้านราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18.18 ล้านไร่ สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 65 และขออนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยาง และผลิตภัณฑ์ระยะที่ 2 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบกิจการแปรรูปไม้ยางพารา

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวยางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ราคายางผันผวนมาโดยตลอด โดยได้ดำเนินมาแล้ว 3 ระยะ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 วงเงินรวมทั้งสิ้น 46,682.88 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้เฉลี่ยปีละ 1.4 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ด้วยการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบกิจการแปรรูปไม้ยางพารากว่า 38 บริษัท ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 และสภาวะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งสามารถดูดซับไม้ยางจากการโค่นต้นยางได้ 4.22 ล้านตัน

“รัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางมาโดยตลอด โครงการประกันรายได้ฯ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ดำเนินการมาแล้ว 3 ระยะ จนการดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จ มีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางในช่วงที่ราคายางผันผวน รายได้ลดลงจากที่เกษตรกรควรจะได้รับ เป็นการช่วยลดผลกระทบในการดำเนินชีวิต”

สำหรับการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในปี 2566 จะครอบคลุมจำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย) คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวม 18,183,764.59 ไร่ ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว  และกำหนดราคาประกันผลผลิตยางแต่ละชนิด คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565)