พาณิชย์ ลุย มินิเอฟเทีเอ ดันยอดส่งออกปี 66

พาณิชย์ ลุย มินิเอฟเทีเอ ดันยอดส่งออกปี 66

พาณิชย์ เผย ปี 66 เตรียมลงนาม “มินิ เอฟทีเอ” 7 ฉบับกับจีน-อินเดีย ลั่น “เซินเจิ้น” ลงนามก่อน 1 มี.ค.นี้ ตามด้วย “ยูนนาน” ส่วนอีก 5 รัฐของอินเดียหลังจากนั้น ย้ำมินิ เอฟทีเอ ที่ลงนามแล้ว 6 ฉบับกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ช่วยดันยอดส่งออกได้จริง

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยถึงแผนผลักดันการจัดทำความร่วมมือขยายการค้า การลงทุน และพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย กับเมืองรอง หรือรัฐ และมณฑล ของประเทศต่างๆ (มินิ เอฟทีเอ) ว่า ปี 66 อยู่ในขั้นตอนการเตรียมลงนามข้อตกลง 2 ฉบับกับจีน คือ เมืองเซินเจิ้น โดยกระทรวงพาณิชย์จะลงนามร่วมกับหน่วยงานของเซินเจิ้นวันที่ 1 มี.ค.นี้ ส่วนมณฑลยูนนาน หลังจากนี้  

สำหรับเซินเจิ้น เป็นเมืองที่มีศักยภาพสำหรับการค้าและการลงทุนเชิงลึก มีประชากรมากถึง 12.53 ล้านคน เป็นเมืองหลักทางตะวันออกของจีน การลงนามมินิ เอฟทีเอร่วมกัน จะช่วยเพิ่มโอกาสของสินค้าและบริการไทยในการเข้าสู่ตลาดระดับเมืองสำคัญของจีน ส่วนยูนนาน มีประชากรมากถึง 47.21 ล้านคน พรมแดนติดกับเมียนมา เวียดนาม ลาว ที่ช่วยเชื่อมโยงการค้ากับไทย ที่สำคัญเป็นตลาดเมืองรองด้านการค้า การขนส่งและโลจิสติกส์ จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสสินค้าและบริการ รวมถึงการขนส่ง และโลจิสติกส์ของไทย โดยใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีน ในการเข้าสู่ตลาดระดับมณฑล และเมืองรองสำคัญของจีน 

นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 ฉบับที่อยู่ระหว่างเจรจา คือ รัฐกรณาฏกะ รัฐมหาราษฎระ รัฐเกรละ รัฐอัสสัม และรัฐคุชราต อินเดีย เป็นการบุกตลาดเมืองรองด้านการค้า และการลงทุนเชิงลึก โดยเน้นความร่วมมือทางการค้า อาหาร และเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ อาหารฮาลาล น้ำมันปาล์ม เฟอร์นิเจอร์ บริการทางการแพทย์และความงาม เป็นต้น 

ส่วนเมืองใหม่ๆ ที่ภาคเอกชนเสนอให้เร่งรัดจัดทำมินิเอฟทีเอ เช่น การาจี ของปากีสถาน, ประเทศสมาชิกอ่าวอาหรับ อยู่ระหว่างการเริ่มต้นเจรจา และศึกษาความเป็นไปได้ ขณะที่แอฟริกา ที่ภาคเอกชนเสนอเช่นกัน ยังมีความเสี่ยงด้านการค้า โดยเฉพาะการชำระเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบก่อนว่า จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ 

นายภูสิต กล่าวอีกว่า มินิเอฟทีเอ ที่ได้ลงนามไปแล้วในช่วงปี 64 และปี 65 มีทั้งสิ้น 6 ฉบับ ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า และขยายความร่วมมือด้านต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.ไห่หนาน จีน ตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ สุขภาพและความงาม ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าส่งออกไทยไปไห่หนานเป็น 12,000 ล้านบาทภายใน 2 ปีนับจากปี 64 นั้น ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจไปแล้ว 4 ครั้ง มูลค่า 643 ล้านบาท 2.เมืองโคฟุ ญี่ปุ่น แหล่งผลิตอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำของญี่ปุ่น ความร่วมมือกันจะเน้นการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเจียระไนอัญมณี สร้างเครือข่ายธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น  

 

3.รัฐเตลังคานา อินเดีย เป็นที่ตั้งของการผลิตและบริการ เป็นเมืองศูนย์กลางขนาดใหญ่อันดับ 2 ของอินเดีย เน้นความร่วมมือด้านเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ การแปรรูปอาหาร เฟอร์นิเจอร์ ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า เจรจาจับคู่ธุรกิจ มูลค่าเกือบ 400 ล้านบาท 4.มณฑลกานซู่ จีน อยู่ภาคจะวันตกเฉียงเหนือของจีน ส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม เน้นความร่วมมือด้านการค้า ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าร่วมกันได้กว่า 100 ล้านบาท 

5.เมืองปูซาน เมืองท่าใหญ่สุดของเกาหลีใต้ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกไทยไปปูซานเป็น 200,000 ล้านบาทใน 3 ปีนับจากปี 65 โดยปี 65 จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าสินค้าสร้างสรรค์ (ซอฟต์ เพาเวอร์) ของไทย เช่น ภาพยนตร์แอนิเมชัน ละคร ฯลฯ รวมถึงเจรจาจับคู่ธุรกิจได้กว่า 1,200 ล้านบาท และ6.เมืองคยองกี จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดของเกาหลีใต้ เน้นสินค้าบริการไทย และซอฟต์ เพาเวอร์ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกไทยไปคยองกีเป็น 210,000 ล้านบาทใน 3 ปีนับจากปี 65