'สภาพัฒน์' แนะ 'การเมือง' เลี่ยงขัดแย้ง หนุนเศรษฐกิจ - การลงทุนปี 66 

'สภาพัฒน์' แนะ 'การเมือง' เลี่ยงขัดแย้ง หนุนเศรษฐกิจ - การลงทุนปี 66 

‘สศช.’ วอนทุกฝ่ายรักษาบรรยากาศการเมืองให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หวังเลือกตั้ง-จัดตั้งรัฐบาลใหม่ไร้ขัดแย้ง หนุนการลงทุนและ FDI จากต่างประเทศ แนะเร่งรัดการลงทุนจริงภาคเอกชนหนุนเศรษฐกิจเติบโตเพิ่ม 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ว่าการบริหารเศรษฐกิจในปีนี้ สศช.ได้ให้น้ำหนักกับการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศว่าจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ในปัจจุบันจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทำให้มีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแต่เนื่องจากในปีนี้มีการเลือกตั้งจึงทำให้ยังมีการชะลอการลงทุนออกไปบางส่วนอย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากสามารถรักษาบรรยากาศทางการเมืองในปีนี้ไม่ให้มีความขัดแย้งที่รุนแรงได้ ภายหลังการเลือกตั้งนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทำให้มีเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

“การรักษาบรรยากาศทางการเมืองของไทยให้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ถือว่าสำคัญมากต้องพยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่ไปสู่ความรุนแรงและไม่นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วไป

ซึ่งตรงนี้ต้องช่วยกัน เพราะหากเกิดความขัดแย้งจะออกไปสู่สายตาของชาวโลก จะทำให้คนที่เข้ามาลงทุนนั้นหยุดชะงัก ซึ่งช่วงเลือกตั้งนั้นสำคัญมาก และช่วงเลือกตั้งแล้วก็สำคัญมาก เป็นเรื่องบรรยากาศการส่งเสริมการลงทุน เพราะในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในไทยมาก ช่วงจังหวะที่มีการเลือกตั้งก็มีการชะลอตัวลงบ้าง หากไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเชื่อว่าการลงทุนจะยังเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง”นายดนุชา กล่าว

\'สภาพัฒน์\' แนะ \'การเมือง\' เลี่ยงขัดแย้ง หนุนเศรษฐกิจ - การลงทุนปี 66 

นายดนุชา กล่าวด้วยว่า สศช.คาดการณ์ว่าในปี 2566 ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจมหภาคปีนี้นอกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ชัดเจนหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีปัจจัยหนุนจากการลงทุนรวมที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.2% แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 2.1% จากปีก่อน ขยายตัวลดลงจากปี 2565 ที่การลงทุนเอกชนขยายตัวได้ 5.1% ส่วนการลงทุนภาครัฐในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% ปรับตัวลดลงจาก 4.9% ในปี 25665 โดยมีกรอบการเบิกจ่ายงบประมาณการใช้จ่ายการลงทุนในปี 2566 ประมาณ 6.64 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 17.8%

อย่างไรก็ตามการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ สศช.มองว่าต้องมีการเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริงของบริษัทเอกชนที่มีการขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปก่อนหน้านี้ให้มีการลงทุนจริงในประเทศตามที่ได้มีการขอส่งเสริมการลงทุน และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนให้มีการลงทุนจริงในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยมีอัตราที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2564 โดยข้อมูลจากบีโอไอระบุว่ามีการขอรับการส่งเสริม จำนวน 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เป็นมูลค่า 664,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% ถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนโควิด

ส่วนการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,554 โครงการ ลดลง 1% แต่มีมูลค่า 618,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และการออกบัตรส่งเสริม จำนวน 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% เป็นมูลค่า 489,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21%