GC ลุยแผนซื้อกิจการสหรัฐ กฏหมายสกัดเงินเฟ้อหนุนธุรกิจสีเขียว

GC ลุยแผนซื้อกิจการสหรัฐ กฏหมายสกัดเงินเฟ้อหนุนธุรกิจสีเขียว

“จีซี” ตั้งงบลงทุนปีนี้หมื่นล้าน ซื้อกิจการในสหรัฐ ลุยธุรกิจรีไซเคิล-ท่าเรือก๊าซ ชี้กฎหมายสกัดเงินเฟ้อของสหรัฐหนุนลงทุนธุรกิจลดปล่อยก๊าซ จับตาสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ มั่นใจรับมือปัญหาโลกขัดแย้งได้ คาดการผลิตปีนี้โต 15% ปัจจัยจีนเปิดประเทศ ลุยเป้าเน็ตซีโร่

Key Points

  •  ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์มีผลต่อราคาพลังงานทำให้ต้องติดตามใกล้ชิด
  •  GC ตั้งงบลงทุนในปี 2566 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท 
  • มีแผน M&A ที่สหรัฐในธุรกิจรีไซเคิลและท่าเรือขนส่งก๊าซ
  • ตั้งเป้าหมาย EBITDA ปี 2566-2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 4%

สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมา 1 ปี ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และทำให้บริษัทพลังงานทั่วโลกต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหลายประเทศทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีมาตรการรับมือปัญหาอัตราเงินเฟ้อ

ขณะที่สหรัฐได้ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) เพื่อรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อด้วยการสนับสนุนการลงทุนการลงทุนสีเขียววงเงิน 400,000 ล้านดอลลาร์

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่เคยมีแผนการลงทุนในสหรัฐแต่ได้ชะลอเพราะมีปัญหาผู้ร่วมลงทุน แต่ครั้งนี้มองเห็นโอกาสการลงทุนในสหรัฐอีกครั้ง โดยจะใช้กลยุทธ์การควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A)

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัท ตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ที่ระดับ 300 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) ของบริษัทฯ ที่ตั้งเป้าหมายภายในปี 2573

GC ลุยแผนซื้อกิจการสหรัฐ กฏหมายสกัดเงินเฟ้อหนุนธุรกิจสีเขียว สำหรับวงเงินลงทุนดังกล่าว ยังไม่รวมแผนการควบรวมหรือซื้อกิจการ ซึ่งเบื้องต้นบริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาแผนการเข้าลงทุน 2 โครงการในสหรัฐ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อนหลังจากสหรัฐออกกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่เป็นมาตรการจูงใจด้านภาษีและการอุดหนุนสำหรับโครงการที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยศึกษาลงทุน 2 โครงการ ดังนี้

1.โครงการผลิตพลาสติกรีไซเคิลสูงขึ้น คาดว่าใช้เงินลงทุนไม่มากนักเพราะไม่ใช้โครงการขนาดใหญ่และจะมีความชัดเจนในการตัดสินใจลงทุนได้ภายในปี2566โดยจะลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่หรือการร่วมลงทุนกับพันธมิตร

GC ลุยแผนซื้อกิจการสหรัฐ กฏหมายสกัดเงินเฟ้อหนุนธุรกิจสีเขียว 2.โครงการท่าเรือขนส่งก๊าซเป็นธุรกิจที่มีโอกาสการเติบโตอีกมากตามความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้น และเป็นพลังงานสะอาดที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน อีกทั้งก๊าซในสหรัฐมีราคาถูกจึงเป็นโอกาสส่งออกก๊าซมาไทยในช่วงที่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยผลิตได้น้อยโดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปี2566

ส่วนความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ บริษัทฯ ยังคงชะลอการตัดสินใจลงทุนไปจนกว่าจะหาพันธมิตรร่วมทุนได้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูงจึงต้องพิจารณาลงทุนอย่างระมัดระวัง

GC ลุยแผนซื้อกิจการสหรัฐ กฏหมายสกัดเงินเฟ้อหนุนธุรกิจสีเขียว ธุรกิจพร้อมรับมือโลกขัดแย้ง

นายคงกระพัน กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจปีที่ผ่านมาถือว่ามีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกหลายประการทั้งสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และการสู้รบของรัสเซีย ยูเครน และการที่จีนล็อกดาวน์ประเทศ โดยปีนี้บริษัทฯ เน้นการฟื้นตัวและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าปีนี้ มาร์จิ้นจะดีขึ้นจากปัจจัยหลักจีนเปิดประเทศ 

ขณะที่การสู้รบระหว่างรัสเซีย ยูเครนเป็นสถานการณ์ที่คนเริ่มชิน และหลายคนมองว่าจะรบกันต่อเนื่อง โดยไม่ยกระดับมากเกินไป และไม่เลิกในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาฤดูหนาวมีการตุนพลังงานมาก แต่พบว่าไม่หนาวอย่างที่คิด 

“ตอนแรกไม่มีใครคิดว่าจะรบนานขนาดนี้ แต่ตอนนี้รบยาวนานเข้าปีที่ 2 แล้ว ส่งผลให้สุดท้ายคนอาจจะชินและปรับตัวได้ คู่ขัดแย้งก็เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติที่อำนาจเก่าโดนท้าทายก็ต้องอยู่ให้เป็น”

นายคงกระพัน กล่าวว่า สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ปี 2566 ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องของอำนาจเก่าที่ต้องรักษา และเกิดสงครามการค้ามาตลอดเพื่อให้ได้ประโยชน์ ดังนั้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและพลังงานโดยตรง และมีความผันผวนได้ตลอดเวลาจะเห็นว่าวันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้ก็อาจเป็นอีกแบบหนึ่ง ส่วนราคาน้ำมันอาจจะตกต่ำหรือเพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้หมด

“ปีนี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีน และการท่องเที่ยวในประเทศที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จะหนุนความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์" 

ห่วงภูมิรัฐศาสตร์กระทบกำไร

ทั้งนี้ คาดว่ามาร์จิ้นจะดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปี 2566-2573 ตั้งเป้าหมายเติบโตเฉลี่ยปีละ 4% แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานจนนำไปสู่ผลกระทบการขาดทุนสต็อกน้ำมันหรือไม่ ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจโลกไปได้เราก็ไปได้ เพราะธุรกิจเราสนับสนุนทุกอุตสาหกรรม

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ปี 2566 คาดว่าปริมาณการผลิตจะเติบโต 15% จากปีก่อน ทั้งจากการเข้าลงทุนใน allnex ที่จะรับรู้ยอดขายเต็มปี และธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่เดินเครื่องเต็มที่จากปี 2565 ที่ปิดซ่อมบำรุง รวมถึงโครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ที่จะได้โพรพิลีนเพิ่ม 63,000 ตันต่อปี

อีกทั้ง โครงการพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade ที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติใบอนุญาตรองรับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่า จะได้รับการอนุมัติในเร็ว ๆ นี้

ลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์เฟส2

ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทฯ เน้นการฟื้นตัวและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในปี 2566 โดยตั้งเป้าทิศทางเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์ 3 Steps Plus โดยมี allnex เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสร้างการเติบโต มีความแข็งแกร่งทางการเงิน รวมถึงมีพอร์ตโฟลิโอที่หลากหลายตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1.Step Change จะผลักดันโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน ประกอบด้วยโครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่2 (Olefins 2 Modification Project) ซึ่งจะทำให้โรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 ใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และคาดว่าเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1 ปี 2566

โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนสายการผลิตที่ 4 (HMC PP Line 4) ของบริษัท HMC Polymers กำลังการผลิต 250,000 ตันต่อปี เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อ ธ.ค.2565

โครงการก่อสร้างโรงงานไบโอพลาสติก PLA แห่งที่ 2 กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ของบริษัท NatureWorks จังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567

โครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC)ที่ GC ร่วมทุนกับบริษัท Kuraray และบริษัท Sumitomo ของญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1 ปี 2566 เพื่อผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T (PA-9T) จำนวน 13,000 ตันต่อปี และผลิต Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) จำนวน 16,000 ตันต่อปี นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลก

กลยุทธ์หาพันธมิตรต่างประเทศ

2.Step Out จะเดินหน้ากลยุทธ์การแสวงหาโอกาสต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการ allnex เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่หรือในต่างประเทศ โดยการปรับองค์กรตั้งหน่วยงานธุรกิจต่างประเทศขึ้น เพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัทฯ มุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ และสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคภายใต้เมกะเทรนด์โลก โดยเตรียมสร้าง Thailand Innovation Hub ที่จะเป็นศูนย์วิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับ allnex เพื่อการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย

3.Step Up จะผลักดันแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยมีแผนการดำเนินงานตามโรดแมปเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนในปี 2573 ภายใต้ 3 กลยุทธ์ ด้วยงบลงทุนราว 5,000 ล้านบาท ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2573 ตามแนวทาง Efficiency-driven ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหลากหลาย เช่น โครงการอนุรักษ์พลังงาน โครงการ Maptaphut Integration (MTPi) โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้พลังงานทดแทน

เพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียว

นอกจากนี้ ดำเนินการตามแผน Portfolio-driven ปรับสัดส่วนธุรกิจมุ่งสู่ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยลงทุนในธุรกิจกลุ่ม High Value Business (HVB) และธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมแสวงหาโอกาสในการสร้าง Synergy (Leverage Synergy) ให้เกิดมูลค่าสูงสุดจากธุรกิจ ตลาดและเทคโนโลยี เช่น allnex ที่บริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการ ซึ่งมีความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง และสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคภายใต้ Megatrends

รวมทั้ง Compensation-driven ดำเนินโครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างสมดุลของระบบนิเวศของป่าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมรวมถึงชุมชนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 บนพื้นที่ 2,500 ไร่ อาทิ โครงการปลูกป่านิเวศระยองวนารมย์ 80 ไร่ ตามหลักการ Eco Forest และสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย และลงทุนใน Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ