“GC” เดินหน้าโรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ตอบโจทย์ลดโลกร้อน

“GC” เดินหน้าโรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ตอบโจทย์ลดโลกร้อน

“GC” เร่งกำลังการผลิตโรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิล “เอ็นวิคโค” คาดภายในปี 66 กำลังผลิตเพิ่มขึ้น 60-80% จากปัจจุบันกำลังผลิต 45,000 ตันต่อปี ลดขยะพลาสติก 60,000 ตันต่อปี แนะรัฐใช้มาตรการภาษี ดันการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลในประเทศตอบโจทย์นโยบาย BCG ลดโลกร้อน 

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC กล่าวถึงโรงงาน ENVICCO ว่า ENVICCO  เป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (US FDA) แห่งแรกในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวัตถุดิบทั้งหมด 100% เป็นพลาสติกใช้แล้วในประเทศ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย เพื่อคืนคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าอีกครั้งมีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกใหม่ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอการอนุมัติใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) สำหรับรองรับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET และ rHDPE เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะได้รับการอนุมัติช่วงไตรมาส 1/2566 เพื่อที่บริษัทฯ จะสามารถใช้กำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 60-80% จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตได้ 40% ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนมากขึ้น  

“ปีหน้าโรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิล จะดำเนินงานครบวงจรมากขึ้น พร้อมให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมสร้างวินัยของการคัดแยกขยะ ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายจัดหาพลาสติกใช้แล้วป้อนให้กับโรงงานฯ ช่วยเหลือเรื่องของสิ่งแวดล้อมและยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน ซึ่งโรงงานนี้ถือเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ระยะยาวด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน จะทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ครบสมบูรณ์ เกิดการสร้างงานในชุมชน ตอบโจทย์โมเดล BCG ของประเทศ”

นายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด กล่าวว่า เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนนโยบายลดโลกร้อนและการบริหารจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย บริษัทฯ จึงเกิดการตั้งโรงงาน ENVICCO ขึ้น แม้ว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิล จะมีต้นทุนสูงกว่าพลาสติกทั่วไปราว 20-30% ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม้ลูกค้าที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลจะร่วมแบกต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ลูกค้าก็ยอมรับได้และน่าจะบริหารจัดการต้นทุนโดยการจัดสรรงบประมาณและงบด้านกิจการเพื่อสังคม (CSR) เข้ามาร่วมในการผลิต เพราะหากเทียบกับการที่ผู้ประกอบการ ต้องโดนข้อจำกัดเรื่องการตั้งกำแพงภาษีจากอียู ที่กำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าไปยุโรปต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมเพื่อลดภาวะโลกร้อนนั้นจะมีอัตราการเสียภาษีประมาณ 800 ยูโรต่อตัน ซึ่งจะบังคับใช้ในปี 2566 ดังนั้น การหันมาใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมถือว่าคุ้มค่ากว่าการถูกเรียกเก็บภาษี  

ขณะนี้ บริษัทฯ ได้จัดหาลูกค้ารองรับการใช้พลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นกว่า 10 ราย รองรับกำลังการผลิตพลาสติกรีไซเคิลที่จะเพิ่มขึ้น  ปัจจุบันโรงงานมีการผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% และจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในประเทศประมาณ 30% ซึ่งรายได้ยังอยู่ในระดับหลักร้อยล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะทำรายได้ทะลุหลักพันล้านบาท 

“หากต้นปีหน้าเราได้ อย. ก็จะช่วยให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่การตั้งกำแพงภาษีของอียูก็จะเป็นส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการใช้งานพลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาวะโลกร้อน อีกทั้ง มองว่าการส่งเสริมให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทยให้แพร่หลายนั้น ภาครัฐควรออกมาตรการทางด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้พลาสติกรีไซเคิล โดยกำหนดรูปแบบที่เหมาะสม และจูงใจในการคัดแยกขยะรีไซเคิลให้มีมาตรฐาน รวมถึงการให้ความรู้วิธีการแยกขยะอย่างถูกต้องเพื่อสร้างรากฐานที่ยั่งยืนในประเทศ” 

นายณัฐนันท์ กล่าวว่า โรงงาน ENVICCO ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง หลังจากโรงงานได้เปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2565 มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 45,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นเม็ดพลาสติก ชนิด rPET จำนวน 30,000 ตันต่อปี และ เม็ดพลาสติก ชนิด rHDPE จำนวน 15,000 ตันต่อปี ช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศไทยได้ถึง 60,000 ตันต่อปี ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่ หรือ ปลูกต้นไม้ใหญ่กว่า 8.32 ล้านต้น